กอ.รมน. ชี้แจงกรณีเอ็นร้อยหวายเชลยศึกชาวมาลายูปาตานีสู่เมืองบางกอก เป็นเพียงการบิดเบือนของประวัติศาสตร์

กอ.รมน. ชี้แจงกรณีเอ็นร้อยหวายเชลยศึกชาวมาลายูปาตานีสู่เมืองบางกอก เป็นเพียงการบิดเบือนของประวัติศาสตร์





ad1

วันนี้(30พย.65)จากกรณีที่มีการเผยแพร่ประวัติศาสตร์ปาตานี หลังแพ้สงครามกับสยามราวต้นรัตนโกสินทร์ มีการจับต้อนชาวมาลายูปาตานีมาเป็นเชลยศึกหลายร้อยคนนำกลับสู่เมืองบางกอกเพื่อเป็นทาสของทางการทำหน้าที่ขุดลอกคลองหลายเส้นในเขตภาคกลางปัจจุบัน โดยเฉพาะคลองแสนแสบที่ถูกเล่ากันต่อๆกันมานับร้อยปีว่าขุดโดยชาวมาลายูปาตานีหลังตกเป็นเชลยศึกพากลับมาเมืองบางกอก ด้วยความทุกข์ทรมานแสนเจ็บปวดของชาวมาลายูจึงถูกตั้งชื่อคลองนั้นเป็น”คลองแสนแสบ”สมชื่อกับเหตุการณ์และเรื่องที่เกิดขึ้นในขณะนั้น นอกจากนั้นการลำเลียงเชลยศึกชาวมาลายูปาตานีที่ถูกต้อนขึ้นสู่เมืองบางกอก ด้วยวิธีการที่น่าสยดสยอง ไร้มนุษยธรรมด้วยวิธีการนำหวายร้อยเอ็นสำหรับเพศชายเรียงกันหลายไคนเพื่อป้องการหลบหนีในระหว่างทาง ส่วนเพศหญิงก็จะเจาะใบหูร้อยกับหวายเช่นกัน นับเป็นเรื่องราวที่ถูกกันมานับร้อย ๆปี ที่สร้างความเจ็บปวดให้กับประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาวมาลายูปาตานีที่ยังคงตรึงในความทรงจำที่ไม่สามารถเลื่อมลืมได้เลยแม้จะเปลี่ยนเวลาแล้วก็ตาม ไม่เฉพาะประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกถ่ายทอดมา ลูกหลานเชลยศึกที่ปัจจุบันเติบใหญ่ในเมืองบางกอกก็ยังคงเก็บความทรงจำกับประวัติศาสตร์เหล่านี้ที่แจหรือโต๊ะเวาะเคยเล่าให้ลูกหลานฟัง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวประวัติศาสตร์ลักษณะนี้เคยถูกหยิบยกมาโต้เถียงในวงวิชาการว่ามันใช่หรือไม่ใช่กับเรื่องราว”เอ็นร้อยหวายชาวมาลายูปาตานีในระหว่างเดินทางกลับสู่บางกอก”ก็ตาม ล่าสุดทางหน่วยความมั่นคงกลับมองเรื่องราวดังกล่าวมันล่อแหลม จึงมีการชี้แจงดังนี้

ข้อเท็จจริง การเจาะเอ็นร้อยหวาย  วาทกรรม บิดเบือนประวัติศาสตร์ 

การเจาะเอ็นร้อยหวายเป็นเรื่องเล่าที่ถูกพูดถึงปากต่อปาก ซึ่งไม่พบเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นของสยามและมลายูที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว แต่พบในงานเขียนที่เขียนขึ้นในภายหลัง โดยจากงานวิจัยพบว่า งานเขียนเก่าแก่ที่สุด คือ หนังสือเรื่อง “ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” ที่เขียนโดย อารีฟีน บินจิ และคณะ ในปี พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า

 “พระยากลาโหมนำเชลยมลายูปาตานี 400 คนลงเรือ .... เพื่อไม่ให้ชาวปาตานีกระโดดเรือหนีลงทะเล ทหารสยามจึงใช้วิธีตัดหวายมาร้อยที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้น ผูกพ่วงต่อกันหลาย ๆ คน เชลยที่เป็นหญิง ก็เอาหวายเจาะใบหูผูกพ่วงไว้เช่นเดียวกัน” 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา แม้ว่าสยามจะมีรัฐบรรณาการหลายแห่งแต่ไม่เคยมีปรากฏว่ามีการร้อยเอ็นร้อยหวายกับเชลยศึก อีกทั้ง ในเชิงการแพทย์ มีงานวิจัยของนายแพทย์ จิรันดร์ อภินันทน์ ได้ข้อสรุปว่า การเอาคนถูกเอ็นร้อยหวายมาเป็นแรงงานแทบเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก การร้อยเอ็นร้อยหวายจะก่อให้เกิดโรคและพยาธิสภาพต่อเอ็นร้อยหวาย ซึ่งจะนำไปสู่อาการปวดเรื้อรังและสูญเสียการทำงาน เป็นผลให้เกิดความพิการและทุพพลภาพ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสสูงในการเกิดการติดเชื้อเข้าไปในเนื้อเยื่อไขมันและ/หรือถุงน้ำดี ซึ่งอาจลุกลามถึงตัวเอ็นร้อยหวายและกระดูกส้นเท้า

 นอกจากนี้ จากคำกล่าวอ้างว่าเชลยปัตตานีถูกร้อยเอ็นร้อยหวายเพื่อมาขุดคลองแสนแสบนั้น เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า การขุดคลองแสนแสบเกิดขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2380) โดยรัฐบาลจ้างชาวจีนในอัตราค่าจ้างเส้นละ 70 บาท (1 เส้น ระยะทาง 40 เมตร) ดังที่ปรากฏในบันทึกของเจ้าพระยาบดินเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3

โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) อีกทั้ง จะเห็นได้ว่าการขุดคลองแสนแสบเกิดขึ้นก่อนการกวาดต้อนเชลยศึกจากปัตตานีขึ้นมาที่กรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการขุดคลองเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้เชลยที่ถูกกวาดต้อนจากศึกสงครามเข้ามาจับจองที่ทำกิน โดยชาวมลายูปัตตานีและไทยบุรีที่ถูกกวาดต้อนมาให้ตั้งบ้านเรือนบริเวณย่านประตูน้ำ มีนบุรี หนองจอก พระโขนง คลองตัน และมหานาค

กล่าวโดยสรุป คือ การร้อยเอ็นร้อยหวายเพื่อนำเชลยมาขุดคลองแสนแสบ เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ขาดแหล่งอ้างอิงจากเอกสารชั้นต้น และบางส่วนขัดกับข้อเท็จจริงจากเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้น โดยเฉพาะการนำเชลยที่ถูกร้อยเอ็นร้อยหวายมาขุดคลองแสนแสบ เพราะคลองแสนแสบ  รัฐบาลได้ว่าจ้างชาวจีน จึงทำให้ในอดีตเรียกว่า “คลองเจ๊ก” และเมื่อพิจารณาในเชิงการแพทย์จะเห็นได้ว่าการร้อยเอ็นร้อยหวายจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงจนนำไปสู่ความพิการและทุพพลภาพ ซึ่งในแง่นี้จะขัดแย้งกับนโยบายการต้อนเชลยศึก เพื่อใช้แรงงานหรือเติมกำลังคนให้กับราชอาณาจักร