ดีเดย์ 1 ธ.ค.ท่าอากาศยานแม่สอด เปิดใช้งานทางรันเวย์ ใหม่รองรับโบอิ้ง 737-แอร์บัส 320

ดีเดย์ 1 ธ.ค.ท่าอากาศยานแม่สอด  เปิดใช้งานทางรันเวย์ ใหม่รองรับโบอิ้ง 737-แอร์บัส 320





ad1

ตาก-ดีเดย์ 1 ธ.ค.65 ท่าอากาศยานแม่สอด  เปิดใช้งานทางรันเวย์ ใหม่  ระยะความยาว  2,100 เมตร  สามารถรองรับอากาศยานขนาด โบอิ้ง 737 และ แอร์บัส 320 จำนวน 180-200 ที่นั่ง

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565   ท่าอากาศยานแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ชายแดนไทย-เมียนมา  กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม   ได้ฤกษ์ เปิดใช้งานทางรันเวย์ วิ่งใหม่ ขนาดความยาว  2,100 เมตร แล้วในวันนี้

โดยนายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน  ได้มอบหมายให้นายชูเกียรติ เทมียะโก หัวหน้ากลุ่มบริหารและอำนวยการท่าอากาศยาน รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่สอด  ดำเนินการจัดกิจกรรมการเปิดใช้งานทางวิ่งใหม่ (รันเวย์) ขนาดความยาว 2,100 เมตร  ที่ได้มาตรฐาน โดยมีนายกุศล พลเสน หัวหน้ากลุ่มวิศวกรรมและบำรุงรักษา นายสุทัศน์ ต่วนเครือ หัวหน้ากลุ่มความปลอดภัย นางปวีณา มูลริสาร หัวหน้ากลุ่มรักษาความปลอดภัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานแม่สอด และนายนฤปกรณ์ มณีวรรณ์ ผู้จัดการสายการบิน  นกแอร์ สถานีแม่สอด   โดยมีการจัดกิจกรรม การต้อนรับและแจกของที่ระลึกให้แก่ผู้โดยสารที่เดินทางในเที่ยวบินของสายการบินนกแอร์ทั้งเที่ยวบินขาเข้าและขาออก เนื่องในโอกาสวันเปิดใช้งานทางวิ่งใหม่ ขนาด 2,100 เมตร ณ.ท่าอากาศยานแม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก  ด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น

รายงานข่าวแจ้งว่า กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม  ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง จากเดิมขนาดความยาว 1,500 เมตร เป็นขนาด 2,100 เมตร วงเงินงบประมาณ 368 ล้านบาท สามารถรองรับอากาศยานขนาด โบอิ้ง 737 และ แอร์บัส 320 จำนวน 180-200 ที่นั่ง โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อส่งเสริมด้านการคมนาคมขนส่งทางอากาศ  สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก และรองรับการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC)
2.  เพื่อให้ท่าอากาศยานแม่สอดเป็นท่าอากาศยานเชื่อมโยงกับการขนส่งทางอากาศกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียน มา
3.  เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอแม่สอดและพื้นที่ข้างเคียง

ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้ดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานแม่สอด ในหลายโครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ พร้อมอาคารประกอบ มีพื้นที่ขนาด 12,000 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร เช่น ลิฟต์โดยสาร บันไดเลื่อน ร้านอาหารว่างและเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อที่ราคาสินค้าเท่ากับร้านที่ขายทั่วไป บริการรถเช่า รวมถึงบริการตู้ไปรษณีย์อัตโนมัติสำหรับฝากส่งสิ่งของที่ไม่สามารถนำขึ้นอากาศยานได้ สิ่งอำนวยความสะดวกพิเศษสำหรับผู้พิการ เช่น พื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับนำทาง ทางลาดสำหรับรถวีลแชร์ ห้องน้ำ ที่จอดรถคนพิการ และทางลาดลำลียงผู้โดยสารทุพพลภาพ เป็นต้น

อาคารหลังใหม่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 600 คนต่อชั่วโมง หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี วงเงินงบประมาณ 447 ล้านบาท โครงการก่อสร้างทางขับ ลานจอดอากาศยานและเสริมผิวทางวิ่งเดิม โดยดำเนินการต่อเติมทางวิ่งจากเดิม ขนาด 30x1,500 เมตร ให้เป็นขนาด 45x1,500 เมตร และก่อสร้างไหล่ทางวิ่งทั้ง 2 ข้าง ขนาดกว้าง 7.50 เมตร รวมถึงขยายทางขับ เพิ่มพื้นที่ลานจอดอากาศยาน ลานจอดรถยนต์ รถบัส และขยายถนนทางเข้าท่าอากาศยาน วงเงินงบประมาณ 297 ล้านบาท โครงการติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบินพร้อมระบบไฟสัญญาณนำอากาศยานเข้าหลุมจอดด้วยทัศนวิสัย (VDGS) วงเงินงบประมาณ 16 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จทุกโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานแม่สอด มีสายการบินนกแอร์เปิดให้บริการในเส้นทางบิน ดอนเมือง-แม่สอด-ดอนเมือง ด้วยอากาศยาน Q400 จำนวน 86 ที่นั่ง ไป-กลับ วันละ 2 เที่ยวบิน (ไป/กลับ 4 เที่ยว) มีสถิติจำนวนผู้โดยสารก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จำนวน 200,000 คนต่อปี เมื่องานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งแล้วเสร็จ จะทำให้สายการบินที่มีอากาศยานขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม เช่น B737 หรือ A320 สามารถทำการบินขึ้น-ลง ได้ และเชื่อมโยงการคมนาคมทางอากาศระหว่างแม่สอดกับจุดอื่น ๆ ในประเทศ และต่างประเทศ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย และเมียนมา เป็นต้น  

รายงานข่าวแจ้งว่า ท่าอากาศยานแม่สอด  มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อให้ผู้โดยสารและผู้มาใช้บริการได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัย ภายใต้มาตรฐานการบิน  และยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  ภายใต้นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ผู้โดยสารมั่นใจเมื่อเดินทาง ณ ท่าอากาศยาน ในสังกัด กรมท่าอากาศยาน