ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จับตา พรบ.ทรมานอุ้มหาย หลังมีความพยายามชะลอการบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม

ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ จับตา พรบ.ทรมานอุ้มหาย หลังมีความพยายามชะลอการบังคับใช้ ส่งผลกระทบต่อจิตใจความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม





ad1

วันนี้(13 ก.พ.66) ภาคประชาสังคมชายแดนใต้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแรงเฮือกสุดท้ายก่อน พ.ร.บ.จะถูกชะลออีกครั้งหลังจากที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการขอเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา วันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ทำหนังสือถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. และได้ระบุอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว ไม่เพียงเท่านั้น  มูลนิธิฯยังได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาทิ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้การตอบรับคำขอของ สตช. แล้วด้วย ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อตราพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้ต่อไป

ขณะเดียวกัน องค์กรภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐหลายฝ่ายออกมาแสดงจุดยืนคัดค้านการชะลอพ.ร.บ. โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายตามกำหนด ไม่ควรขยายเวลาบังคับใช้ ทั้งยังจัดทำข้อเสนอด้านการดำเนินงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยิ่งไปกว่านั้นหน่วยงานหลักด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างสำนักงานอัยการสูงสุดยังได้จัดทำแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างละเอียดอีกด้วย  
 
จากข้อมูลที่ได้รับดังกล่าว มูลนิธิฯมีข้อห่วงกังวลเป็นอย่างยิ่งถึงความพยายามของ สตช. และพวก ในการชะลอการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันแปละปราบปรามการทรมานฯ  ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และยกระดับมาตรฐานสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) ซึ่งประเทศไทยลงนามและให้สัตยาบันเมื่อปี 2550 และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 2549 ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้แล้ว รอการให้สัตยาบันเมื่อพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลใช้บังคับ

มูลนิธิฯ เห็นว่าข้ออ้างของสตช.ไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและเหตุผล เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเวลาที่ตระเตรียมกำลังพลและอุปกรณ์ตั้งแต่ปี 2564 โดยสตช.ได้ออกคำสั่ง ที่ 178/2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา มาแล้ว ซึ่งการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ยิ่งจะช่วยให้มีการจัดสรรงบประมาณมาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งระเบียบภายในของ สตช. ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งเห็นชัดว่าข้ออ้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มิใช่กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ที่รัฐบาลจะเลื่อนการบังคับใช้ เพราะมิใช่กรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และเงื่อนไขอื่นๆตามที่กำหนดไว้ใน มาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  แต่อย่างใด

มูลนิธิฯยังได้เรียนนายกรัฐมนตรีต่อไปว่า นอกจากรัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและความจำเป็นในการเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ. ออกไป ไม่ว่าโดยวิธีใดแล้ว  การกระทำดังกล่าวจะแสดงให้เห็นถึงความ “ไม่เต็มใจ” (unwilling) ของรัฐบาลในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และเป็นการสวนทางกับเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยที่เรียกร้องต้องการกฎหมาย เพื่อขจัดการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยสะท้อนให้เห็นจากการลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรโดยมติเอกฉันท์ ดังนั้นรัฐบาล ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารจึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงได้มีหนังสือด่วน ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธื จันทร์โอชา ขอให้ตรวจสอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีความพยายามในการชะลอการบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมีการใช้อคติทางการเมืองหรือกลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือหรือไม่ และขอให้รับรองต่อสาธารณชนว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะเป็นไปตามกำหนดเดิม คือ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566
 
ในการนี้ มูลนิธิฯ จึงขอเชิญชวนเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมเดินทางไปยื่นจดหมายฉบับนี้ให้ถึงมือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันอังคารที่ 14 ก.พ. 2566 เวลา 8.30 น. เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการบิดเบือนเจตนารมณ์ของปวงชนชาวไทยโดยผู้มีอำนาจอีกต่อไป