กังวลภาคใต้ “ฝน 8 แดด 4”กระทบหนักชาวสวนยางต้องฟื้นฟูพืชผล “สู้ฝน”

กังวลภาคใต้ “ฝน 8 แดด 4”กระทบหนักชาวสวนยางต้องฟื้นฟูพืชผล “สู้ฝน”





ad1

พัทลุง-กังวลภาคใต้ “ฝน 8 แดด 4”  ส่งผลต่อชาวสวนยางพาราขนานหนัก ต้องฟื้นฟูพืชผล “สู้ฝน” พวก ปาล์มน้ำมัน หมาก มะพร้าว สะตอ

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนผสมผสาน และประธานภาคีเครือข่ายชาวยางพาราและปาล์มน้ำมันภาคใต้ (คยปท.)  เปิดเผยว่า ชาวสวนยางพารา น่ากังวลมากจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมามีฝนตกมากกว่าแล้ง ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพารา สวนผลไม้พืชผักทางภาคใต้บางพื้นที่มาก และโดยเฉพาะยางพารา เป็นอาชีพและรายได้หลักที่ได้กรีดยางพาราน้อยมาก ส่วนผลไม้ทั้งมังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง มีผลผลิตที่น้อยมาก

“เพราะสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้หลายจังหวัด ได้คล้ายกับสภาพภูมิอากาศกับ จ.ระนอง ฝนมากกว่าแล้งที่เรียกกันว่า ฝน 8 แดด 4 จากฝนตกมากกว่าแล้ง สภาพคล้ายฝน 8 แดด 4 เป็นมา 2-3 ปีแต่ไม่ถึงกับแรงเหมือนปี 2565 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางพารามาก เพราะภาคใต้เป็นพื้นที่ยางพาราอันดับ 1 ของประเทศได้กระทบโดยตรง ที่ไม่สามารถกรีดได้ไม่มีรายได้ ว่างงานจนเป็นที่กังวลกันมาก”

นายทศพล กล่าวอีกว่า จึงจำเป็นชาวสวนยางพาราปรับวิธีโดยเป็นป่ายางพาราทำสวนผสมผสานซึ่งโครงการเครือข่ายชาวสวนยางพารา การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำเสนอมาหลายปี   สำหรับพืชที่รองรับฝนตกยาว 8 แดด 4 มีประสิทธิ มีสวนปาล์มน้ำมัน หมาก และมะพร้าว นอกนั้นจะเป็นสะตอ  ฯลฯซึ่งหมาก มะพร้าว สะตอ ปลูกแซมเหมาะกับสวนผสม 

ทั้งนี้สะตอของตนที่ออกนอกฤดูกาล 1 ต้น ทำเงินได้ประมาณ 10,000 บาท ราคาฝักละ 10 บาท ขนาด 10-12 ฝัก 100 บาท  หมากอ่อนกว่า 10 บาท หมากสุก 30-35 บาท / กก. มะพร้าวลูกละ 10-12 บาท / กก. ปาล์มน้ำมันกว่า 4 บาท ถึง 5 บาท / กก. มีรายได้ทุกตัว  และในวันที่ 26 กพ. 66 โดย 6 องค์กรเครือข่ายยางพาราไทย จะพบกับ 9 พรรคการเมืองไทย นำเสนอยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจฐานราก งานนวัตกรรมยาง EEC จ.ระนอง ณ สหกรณ์วังจันทร์ ทั้งนี้ยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจฐานรากเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ

โดยในสวนยางพาราต้องเป็นป่ายางผสมผสาน สร้างงานสร้างอาชีพ เพื่อพึ่งพายั่งยืน เมื่อฐานรากดีประเทศเศรษฐกิจยั่งยืนมั่นคง โดยเฉพาะในกลุ่มสวนยางพาราที่อยู่ในระบบกว่า 14 ล้านไร่ในส่วนของภาคใต้ และภาพรวมทั้งประเทศกว่า 24 ล้านไร่ 
มีชาวสวนยางพารา 1.7 ล้านคน เป็นคนกรีดยาง 600,000 คน เป็นเจ้าของสวนยางพารารายเล็ก รายย่อย ประมาณ 1.1 ล้านคน ยังไม่นับยางพาราที่ยังไม่ได้เข้ามาในระบบ ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยางพาราอีกจำนวนหนึ่ง. 

โดย....อัสวิน ภักฆวรรณ