สวพส.ผนึก 12 อปท. เมืองน่านลุยพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-ความยากจนอย่างยั่งยืน

สวพส.ผนึก 12 อปท. เมืองน่านลุยพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-ความยากจนอย่างยั่งยืน





ad1

สวพส. ร่วมกับ 12 อปท. ใน จ.น่าน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่สูง ชูองค์ความรู้ตามแนวทางโครงการหลวงแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยากจนอย่างยั่งยืน นตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ครอบคลุมทุกมิติ

วันที่ 23 มีนาคม 2566 นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีนายปีติพงศ์  พึ่งบุญ ณ อยุธยา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายชวลิต ชูขจร ประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดน่านร่วมเป็นเกียรติในการลงนาม ณ โรงแรมน่านกรีนเลควิว รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

โดย นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง ได้กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานบนพื้นที่สูง ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่ม 3 น่าน จำนวน 12 แห่ง ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งช้าง องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง องค์การบริหารส่วนตำบลชนแดน องค์การบริหารส่วนตำบลผาทอง องค์การบริหารส่วนตำบลผาตอ องค์การบริหารส่วนตำบลขุนน่าน องค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อเกลือเหนือ องค์การบริหารส่วนตำบลภูคา องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ องค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่จริม เป็นความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สูงในพื้นที่จังหวัดน่านตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้ครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และด้านโครงสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น โดยการนำองค์ความรู้ตามแนวทางโครงการหลวงภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้พัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมถึงการร่วมมือกันสนับสนุนกิจกรรมและงบประมาณในการพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมพัฒนาอาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมทั้งเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน

 ตลอดจนร่วมกันกำหนดขอบเขตพื้นที่ป่าและพื้นที่ทำกิน และจัดทำผังชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย   พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่ขัดต่อระเบียบกฎหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนพื้นที่สูงในการการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนต่อไป