เยาวชนชาติพันธุ์มละบริยกระดับภูมิปัญญาจากป่าสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ระดับ GI“ญอกมละบริน่าน”งานหัตถกรรมที่สร้างคุณค่าความภูมิใจในความเป็นชนชาติพันธุ์

เยาวชนชาติพันธุ์มละบริยกระดับภูมิปัญญาจากป่าสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ระดับ GI“ญอกมละบริน่าน”งานหัตถกรรมที่สร้างคุณค่าความภูมิใจในความเป็นชนชาติพันธุ์





ad1

“เลฮ มา ซือ ญอก คอง มละ เซิม”แปลได้ว่า “เชิญมาอุดหนุนย่ามของมละบรินะ”เป็นเสียงเชิญชวนด้วยภาษามละบริ ของเยาวชนชาติพันธุ์มละบริ หมู่ที่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน   ทำให้สะท้อนและมองเห็นงานด้านหัตถกรรมของชนชาติพันธุ์  ที่ส่งผ่านมาทางสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย เพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไม่ให้เลือนหาย เฉกเช่นเดียวกับ ญอก มละบริ หรือถุงย่าม ที่ใช้วัสดุเป็นเถาวัลย์ หรือที่เรียกด้วยภาษามละบริว่า “ทะแปด” ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เรียนรู้ว่าเถาวัลย์ชนิดนี้มีอยู่ในป่า มีความเหนียวและทนทาน ด้วยชนชาติพันธุ์มละบริ ต้องหาของป่า และโยกย้ายถิ่นอาศัย จำเป็นต้องใช้ย่ามเพื่อใส่สิ่งของต่างๆ แม้ปัจจุบัน มละบริจะไม่ต้องย้ายที่อยู่อาศัย  และปักหลักเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์แล้ว  แต่ย่ามมละบริ ก็ยังคงอยู่ในวิถีชีวิต  ลูกหลานชนเผ่าจะยังคงได้เห็นและสัมผัสรับรู้ถึงงานหัตถกรรมประจำชาติพันธุ์  

"ภูมิใจที่เกิดมาเป็นมละบริ งานถักย่ามก็เป็นสิ่งที่อยากเรียนรู้มาตั้งแต่แรก รู้สึกภูมิใจในตัวเองที่มีส่วนรักษาและเผยแพร่ภูมิปัญญาของมละบริ " คำบอกเล่าที่มุ่งมั่นและหนักแน่น ของนางสาวคนิตา ศรีชาวป่า หรือ น้องอั้ม   ซึ่งได้เล่าว่าตั้งแต่เด็กก็เห็นและรู้จักญอก หรือถุงย่ามเถาวัลย์ คุ้นชินและผูกพันเพราะเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตของมละบริ  และเริ่มอยากหัดตัดเถาวัลย์ รวมตัวกับเพื่อนๆพาไปตัดเถาวัลย์ในป่า โดยมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านคอยสอน และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก แต่อดทนเพราะเป็นทักษะที่ต้องการเรียนรู้  ทั้งเรื่องตัดเถาวัลย์ที่เหมาะสมไม่อ่อนหรือแก่เกินไป ซึ่งจะทำให้ย่ามขาดง่ายไม่คงทน  และต้องฝึกเรื่องจับมีด วางมีด เพื่อขูดเส้นเถาวัลย์ให้เป็นสีขาว และการย้อมสีจากธรรมชาติ  ต้องเรียนรู้ชนิดของใบไม้ที่จะให้สีต่างๆ ชนิดไหนใช้ได้หรือไม่ได้ พอได้เรียนรู้เรื่องการหาเถาวัลย์และใบไม้จากในป่า  ก็เริ่มเรียนรู้การถัก ซึ่งเรียนรู้จากคุณแม่เรื่องการฟั่นเชือกเถาวัลย์ด้วยหน้าแข้งให้เป็นเส้น และเรียนรู้จากคุณยายเรื่องการถัก ซึ่งเป็นการถักแบบวน ทำให้ถุงย่ามเกิดเป็นปมเกาะเกี่ยวและมีความแข็งแรงทนทาน ภูมิปัญญาทั้งหมดถ่ายทอดและสอนกันจากรุ่นสู่รุ่น แม่สอนลูกสาว ผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านก็คอยสอนให้กับเยาวชนรุ่นหลังให้เรียนรู้และสืบทอดไม่ให้เลือนหายไปจากวิถีชีวิตมละบริ

นางสาวสุรีย์  ชาวพนาไพร หรือ น้องสุ   เยาวชนมละบริ   ซึ่งเป็นเยาวชนแกนหลักในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ ทำหน้าที่โพสต์สินค้า พูดคุยและปิดการขาย  โดยเล่าว่า กลุ่มผู้หญิงได้รวมตัวกันเพื่อทำญอกมละบริ  จากรูปแบบดั้งเดิม หลังจากมีหน่วยงาน องค์กรต่างๆ มาช่วยสอนก็ให้ทำเกิดรูปแบบใหม่ๆ ที่สวยงามและน่ารัก ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น  ทำให้สินค้าดูดีขึ้น มีการสร้างจุดแข็งจุดขาย เช่นคุณสมบัติที่คงทน ลายที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการรับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) ซึ่งสามารถสร้างสตอรี่เพื่อสร้างแบรนด์ และมีการสอนให้ไลฟ์สดเพื่อการตลาดออนไลน์ สร้างแฟนเพจเพื่อประชาสัมพันธ์และเป็นช่องทางการขาย ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น   แล้วก็ฝึกถ่ายรูปสินค้าและโพสต์ขายออนไลน์   มียอดขายและมีรายได้  และยังรู้สึกภูมิใจที่เราเป็นเยาวชนมละบริ ที่สามารถเรียนรู้การผลิตและการขายสินค้า สร้างอาชีพด้วยงานหัตถกรรมจากภูมิปัญญาชาติพันธุ์

นางอรัญวา  ชาวพนาไพร  ผู้นำชุมชนมละบริภูฟ้า  หมู่ที่ 3 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ  จ.น่าน เล่าว่า   กลุ่มแม่บ้านมละบริต้องออกไปทำงานรับจ้าง  จึงอยากมองหาช่องทางและโอกาสสร้างรายได้อื่น  ซึ่งกลุ่มแม่บ้านมีทักษะถักญอก จึงมีแนวคิดพัฒนาให้เป็นสินค้าให้กับกลุ่มแม่บ้าน โดยญอกมละบริมีความโดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ เป็นชิ้นงานเดียวที่มีในโลก แต่ละครั้งที่ถักจะไม่สามารถทำให้เหมือนกันได้เลย มีความเหนียวทนทาน สีธรรมชาติ เป็นจุดแข็งที่สามารถทำการตลาดได้  ส่วนเถาวัลย์ที่ไปตัดในป่า จะเลือกเฉพาะส่วนที่พอดี  ถ้าอ่อนหรือแก่เกินไปจะทำให้ขาดง่าย เราจะปล่อยให้ต้นแก่ได้งอกใหม่ ส่วนต้นอ่อนก็ปล่อยให้เติบโต และเถาวัลย์เก็บได้มากเฉพาะในช่วงฤดูฝน การเก็บเถาวัลย์ในป่าเพื่อนำมาถักญอกมีข้อจำกัดมาก จึงไม่ได้เป็นการทำลายป่า และมละบริก็ให้ความสำคัญกับเรื่องเถาวัลย์มาก เพราะถ้าไม่มีเถาวัลย์ก็จะไม่มีการถักญอก

กลุ่มแม่บ้านจะมารวมตัวกันถักญอก ที่ศูนย์วัฒนธรรมมละบริภูฟ้า  เพื่อขายมีรายได้ และได้ตั้งเป็น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพมละบริอำเภอบ่อเกลือ ปี 2562  พอมีผลิตภัณฑ์เริ่มขายได้ ลูกหลานก็มาช่วยทำ  ขายได้แม่ก็แบ่งเงินให้  “ญอก” กลายเป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ให้กับครอบครัว แม่ลูกได้คุยกันสอนกัน หลังจากนั้นเด็กๆเยาวชน ก็อยากเริ่มหัดตัดเถาวัลย์ ถักญอก อยากมีรายได้บ้าง  เราก็แบ่งงานให้ทำ ทั้งตัดเถาวัลย์มาขายให้กับทางกลุ่ม หรือถักเป็นกระเป๋า และก็ได้เงินเป็นรายได้ จากเริ่มต้นมีเด็กมาขอร่วมกลุ่มแค่ 4 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 10 คน  ซึ่งกลุ่มเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ของมละบริ เป็นหญิง 8 คน และ ชาย 9 คน รวม 17 คน

การพัฒนากระเป๋าญอกมละบริ ส่วนหนึ่งเกิดจากที่เด็กๆ นำรูปภาพกระเป๋าต่างๆ มาถามกลุ่มแม่บ้านว่า แบบนี้ถักได้ไหม ทำได้ไหม  มาช่วยแนะนำ ช่วยออกแบบและให้ทดลองถัก  ทำให้เกิดกระเป๋ารูปแบบต่างๆ และสินค้ารูปแบบอื่นๆ เช่น ต่างหู  สร้อยแขน  สายห้อยคล้องคอ  หมวก ที่ขายดีเป็นกระเป๋าเป้  กระเป๋าใส่โทรศัพท์ กระเป๋าตาห่าง  แต่ยังคงอัตลักษณ์และลวดลายที่มีความเฉพาะของมละบริ  การใช้วัสดุทั้งหมดด้วยธรรมชาติ ลักษณะเฉพาะไม่มีที่ไหน จึงได้สมัครขอตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Thai Geographical Indication หรือ GI) ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆมากมาย จน "ญอกมละบริน่าน" ได้รับตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565

ซึ่งหลังจากได้การรับรองทำให้กระเป๋าญอกมละบริได้รับความสนใจ คนในหมู่บ้านก็หันมาให้ความสำคัญ เกิดความภาคภูมิใจในผลิตภัณฑ์ของมละบริ  ตลาดภายนอกได้เห็นและให้ความสนใจ ซึ่งขณะนี้ทางห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ได้นำรูปแบบลวดลายการถักและการใช้วัสดุอื่นมาประกอบชิ้นงานเพื่อให้กลุ่มได้ทดลองทำ ซึ่งน่าจะได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาตรงกับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้นด้วย    ซึ่งก็ถือว่าเป็นการรักษาภูมิปัญญา เด็กๆรุ่นต่อไปเห็นคุณค่าเกิดแรงบันดาลใจที่อยากเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่มีต่อชาติพันธุ์มละบริ  และต้องการให้ชนชาติพันธุ์ของตัวเองมีของดี  เหมือนชนชาติพันธุ์อื่นๆ ที่มีงานผ้าปัก  ผ้าเขียนเทียน  งานเครื่องเงิน และงานหัตถกรรม

“งานถักกระเป๋าญอกมละบริ ไม่ใช่เพียงแต่เป็นงานหัตถกรรมเพื่อการใช้งานหรือเป็นสินค้า แต่คือสิ่งที่เชื่อมโยงคนทุกวัยและป่าที่อาศัยเกื้อกูลกัน  สร้างคุณค่าความภูมิใจในความเป็นชนชาติพันธุ์ของลูกหลานมละบริรุ่นต่อๆไปด้วย”

นางนิภารัตน์    ประพฤติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน  กล่าวว่า  การส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ของชาติพันธุ์เพื่อสร้างมูลค่า สร้างอาชีพและรายได้  ซึ่งได้ร่วมกับ ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ที่สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ สอนให้ทางกลุ่มได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ให้เป็นสินค้ารูปแบบใหม่ ลูกค้าทุกช่วงวัยสามารถจับต้องได้ ใช้ระยะเวลาในการผลิตน้อยลง จำหน่ายได้ง่าย ซึ่งมีส่วนช่วยในการปรับปรุงเศรษฐกิจของชุมชน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมกับ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน อพท.6 นำผลิตภัณฑ์กระเป๋าญอกมละบริ ไปร่วมออกบูธแสดงและจำหน่ายในกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ซึ่งทำให้เกิดการรับรู้เรื่องราวของกระเป๋าญอกมละบริและจำหน่ายสินค้าได้

รวมทั้งบริษัท plan international  ได้จัดโครงการพัฒนาเยาวชนชนเผ่าสู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถให้กับเยาวชน สตรี และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พัฒนาทักษะทางด้านอาชีพและรายได้  ได้มีการออกแบบกระบวนการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การออกแบบและอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ รวมถึงทักษะต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมการตลาด โดยหลังจากนี้จะยังมีการเชื่อมความร่วมมือเพื่อการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์กระเป๋ามละบริอย่างต่อเนื่อง