ดีเอสไอ บุกค้นโกดังย่านบางขุนเทียน-สมุทรสาคร ยึด มือถือ-แทบแล็ต เถื่อน มูลค่ากว่า 23 ล้าน

ดีเอสไอ บุกค้นโกดังย่านบางขุนเทียน-สมุทรสาคร ยึด มือถือ-แทบแล็ต เถื่อน มูลค่ากว่า 23 ล้าน





ad1

"ดีเอสไอ" เปิดปฏิบัติการร่วมกับ สมอ. กสทช. ภาค 1 ลงพื้นที่ตรวจโกดัง 2 จุด ในเขตบางขุนเทียน และสมุทรสาคร ตรวจค้นยึดสินค้าที่ไม่ผ่าน มอก. และโทรศัพท์มือถือ ไม่ผ่านการตรวจสอบจาก กสทช. มูลค่าความเสียหายกว่า 23 ล้านบาท

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 29 มีนาคม 2566 พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการให้ พ.ต.ท.กฤช อาจสามารถ รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พ.ต.ท.เสกสรร ศรีตุลาการ รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และนายเทวา จุฬารี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 7 บูรณาการร่วมกับ นายเชวงศักดิ์ คำตา ผู้อำนวยการกองตรวจการมาตรฐาน 2 นายอนิรุท เสวกานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 16 นายสนอง วรรณโภชน์ ผู้อำนวยการส่วนบังคับใช้กฎหมายและนิติการ

พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจค้นบริษัท ดีดัง จำกัด ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาครที่ 204/2566 และโกดังเลขที่ 859/11 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร หมายค้นศาลอาญาธนบุรี ที่ 158/2566 ซึ่งสถานที่ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลและนายทุนชาวจีนที่มีพฤติการณ์ร่วมกันเสนอจำหน่ายและจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าประเภทโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ที่ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บนแพลตฟอร์มตลาดเสมือนจริง โดยอาจมีการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดังกล่าวเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาต และอาจเป็นการนำของที่ผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น

ผลการตรวจค้น 2 จุด พบสิ่งของซึ่งจะใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน หลายรายการ ประกอบด้วย

1. เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ไดร์เป่าผม หม้ออบลมร้อน เครื่องม้วนผม เตารีด พัดลม หม้อหุงข้าว เป็นต้น ที่ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ จำนวนทั้งสิ้น 22,596 ชิ้น มูลค่าความเสียหายประมาณ 7 ล้านบาท

2. โทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต ที่ไม่ได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม จำนวนทั้งสิ้น 17,919 ชิ้น มูลค่าความเสียหายประมาณ 16,601,100 บาท รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 23,601,100 บาท

สำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลและนายทุนชาวจีนดังกล่าวข้างต้น อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษจะได้ทำการสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป