ชาวบ้านเมียนมาขาดไฟฟ้า หลัง กฟภ.ของไทย ได้ทำระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้า

ชาวบ้านเมียนมาขาดไฟฟ้า หลัง กฟภ.ของไทย ได้ทำระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้า





ad1

ชาวบ้านเมียนมาขาดไฟฟ้า หลัง กฟภ.ของไทย ได้ทำระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้า พบเครื่องปั่นไฟขายดีมาก ชาวเมียนมาต้องการมาก ลงขันกันซื้อก็มี สินค้าขาดตลาดแม่สอด ต้องสั่งจากจังหวัดอื่น รอสินค้าหลายวัน

ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณด่านพรมแดนไทย-เมียนมา (แม่สอด-เมียวดี ) อ.แม่สอด จ.ตาก ที่สะพานมิตรภาพไทย=เมียนมา ข้ามแม่น้ำเมย แห่งที่ 1 เชื่อม 2 ประเทศ ระหว่างประเทศไทย กับ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ที่มีป้ายบอกชื่อ "สุดประจิมที่ริมเมย" ซึ่งจุดนี้ ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถข้ามไป-มาได้ตามปกติ พ่อค้าแม่ค้าชาวเมียนมาก็มาขายสินค้าที่ด่านชายแดน และขายอยู่ใต้สะพานที่มีรั้วลวดหนาวกั้นไว้ ก็มีให้พบเห็นตามปกติ

ส่วนสะพานมิตรภาพไทยเมียน-เมียนมา แห่งที่ 2 รถบรรทุกสินค้าผ่านแดนก็สามารถข้ามไปส่งสินค้าเป็นปกติเช่นกัน ไม่ได้ปิดตามคำขมขู่ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือBGFแต่อย่างใด หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ของไทยได้ระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่บริษัทเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ให้ดำเนินการซื้อขาย-ควบคุมกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง โดยหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงเวลา 24.00 น.วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา

สำหรับท่าข้ามธรรมชาติท่า 23 (พัทยาวังแก้ว) บ้านวังแก้ว ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก ตั้งอยู่ชายแดนไทย-เมียนมา เมืองคู่ขนานเขตเศรษฐกิจพิเศษ (แม่สอด, เมียวดี, เมืองใหม่ ชเวโก๊กโก่ ) ที่มีครอบครัวจันทร์บุญ มีนายคำ จันทร์บุญ (พ่อเลี้ยงคำ นักบุญสองแผ่นดิน) พร้อมครอบครัวมณีศร โดย ร.ต.ธงชัย มณีศร บุตรเขยพ่อเลี้ยงคำ และเจ้าของท่าข้าม 23

ร.ต.ธงชัย มณีศร เจ้าของท่าข้าม 23 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า หลังจากที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)ของไทย ได้ทำระงับการจ่ายกระแสไฟฟ้าชาวเมียนมา ตั้งแต่เวลา 24.00 น.วันที่ 5 มิถุนายน 2566 ผลกระทบจากผู้ประกอบการท่าข้ามธรรมชาติต่างๆในชายแดน อ.แม่สอด ท่าเรือที่ส่งสินค้าทางเรือ หรือทางโป๊ะ ส่วนของท่าข้ามธรรมชาติ ท่า 23 เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ส่งสินค้าอุปโภคบริโภคไปยังเมียนมา หรือรัฐกระเหรี่ยง ติดเมืองใหม่ของชาวจีนที่เช่าพื้นที่ 99 ปี สร้างเมืองใหม่ขึ้นมา คือ "ชเวโก๊กโก่" หรือ "ส่วยโก๊กโก่" มีจำนวนมากกว่า 60,000 คน ตั้งแต่หยุดการส่งไฟฟ้าไปเมียนมานั้น ไม่มีผลกระทบอะไรมากนักกับชาวจีน ยังส่งสินค้าข้ามชายแดนตามปกติ"

ร.ต.ธงชัย มณีศร กล่าวอีกว่า จากการสอบถามเพื่อนบ้านชาวเมียนมา ได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน อย่างน้อยๆมือถือที่จำเป็นสำหรับทุกคน จะต้องชาร์จแบตจากไฟฟ้า มีผลกระทบเรื่องการถนอมอาหารสด ที่จำเป็นต้องใช้น้ำแข็งก้อน หรือน้ำแข็งมือ หรือน้ำแข็งก๊ก จากที่เคยแช่ในตู้เย็นที่ใช้ไฟฟ้า ก็ต้องเปลี่ยนมาแช่ในน้ำแข็งแทน จึงสั่งซื้อน้ำแข็งก๊กจากไทยไปจำนวนมาก 

"พี่น้องชาวบ้านชาวเมียนมา ในเมืองชเวโก๊กโก่ มีจำนวนประมาณ 2,000 หลังคาเรือน ได้รับผลกระทบเรื่องไฟฟ้าอยู่แล้ว ครอบครัวไหนที่มีฐานะดีก็จะหาซื้อเครื่องปั่นไฟเครื่องใหญ่ ไว้ใช้ในบ้านของตัวเอง เพราะตั้งแต่เช้าวันที่ 6 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมาถึงวันนี้ ระบบเครือข่ายมือถือทุกเครือข่ายถูกตัดหมด เพราะเสาส่งสัญญาณมือถือในเมียนมาใช้ไฟฟ้าหลักเท่านั้น ดังนั้นสัญญาณในเมียนมาจะถูกตัดทั้งหมด จะเหลือเพียงผู้ที่ใช้เบอร์ไทยเชื่อมสัญญาณในฝั่งไทยได้อยู่บ้างในรัศมีที่ส่งถึง"

"ส่วนโซนที่เป็นเมืองใหม่ของชาวจีน ดูแล้วไม่มีผลกระทบอะไร เพราะมีศักยภาพที่เตรียมเครื่องสำรองไฟฟ้าไว้ใช้ในแต่ละตึกไว้ก่อนแล้ว มีเครื่องปั่นไฟเพื่อป้องกันไฟตกและไฟดับ เมื่อไทยเราหยุดส่งไฟฟ้าไป เขาก็ใช้เครื่องปั่นไฟใช้เป็นพลังงานหลักไปเลย และเมื่อมองจากฝั่งไทยก็พบว่า เขาก็ยังเปิดไฟตามตึกต่างๆตามปกติ ไม่มีการลดแสงไฟใดๆเปิดไฟLEDตามตึกปกติทุกคืน ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แทบจะมองไม่ออกเลย เพราะโซนของชาวจีนมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าชาวบ้านเมียนมา นอกจากมีแสงไฟแล้วจะมีเสียงของเครื่องปั่นไฟดังมากขึ้นในยามค่ำคืนมาพร้อมเสียงธรรมชาติอื่นๆ อย่างไรก็ตามในอนาคตต่อไปตนก็ไม่ทราบว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้เมื่อไหร่"  ร.ต.ธงชัย มณีศร เจ้าของท่าข้ามธรรมชาติ 23 กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสินค้าที่ขายดีให้ชาวเมียนมาต้องการมาก คือ เครื่องปั่นไฟฟ้า ตลาดใน อ.แม่สอด ไม่มีสินค้าแล้ว ได้สั่งมาจากจังหวัดอื่นๆ และรอสินค้าเดินทางมาหลายวันเพราะต้องทำเอกสารชิ้ปปิ้งส่งขายให้ถูกต้อง ซึ่งพบว่า ชาวเมียนมาครอบครัวไหนที่ฐานะดีก็จะซื้อเครื่องปั่นไฟขนาดใหญ่ไว้ประจำบ้าน ส่วนครอบครัวไหนที่ยากจน ก็จะลงขันกันซื้อแล้วแบ่งปั่นไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านหลายๆครอบครัวใช้ร่วมกันก็มี