นร.ขอนแก่นยก"น้องหยก"เป็นกรณีศึกษาโรงเรียนควรเปิดเสรีทางความคิด มากกว่ายึดติดกับระเบียบแบบอนุรักษ์นิยม

นร.ขอนแก่นยก"น้องหยก"เป็นกรณีศึกษาโรงเรียนควรเปิดเสรีทางความคิด มากกว่ายึดติดกับระเบียบแบบอนุรักษ์นิยม





ad1

หลังเกิดปรากฎการณ์นักเรียนอยากให้ยึดโยงตัวนักเรียนเป็นหลักมากกว่ากฎระเบียบที่โรงเรียนตั้งขึ้นจากกรณี "น้องหยก" นักเรียนวัย 15 ปี ที่กำลังเป็นประเด็นกับโรงเรียน ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนนักเรียนใน เขต จ.ขอนแก่น เพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว

นายสิงห์ บูรภักดิ์ ตัวแทนนักเรียนขอนแก่น อายุ 16 ปี กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นนักเรียนเหมือนกัน โดยส่วนตัวคิดว่าในประเด็นของน้องหยกได้ทำการอารยะขัดขืนดื้อแพ่งต่อกฎนั้น เพราะหยกไม่เห็นด้วยต่อกฎ ซึ่งเราพูดกันอยู่ตลอดว่าต้องทำตามกฎแต่กฎไม่ถูกต้องเราจำเป็นต้องทำตามหรือไม่

" หยกแค่เห็นว่ากฎเหล่านั้นไม่ถูกต้อง ในยุคสมัยปัจจุบันคิดว่าการใส่ชุดนักเรียน ตัดผมทรงนักเรียน คิดว่าไม่จำเป็นแล้วเพราะไม่เกี่ยวกับหัวสมองในการเรียนหนังสือของเราเพราะการแต่งกาย ทำสีผม ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าคนเราจะฉลาดหรือโง่ลง แต่ผู้ใหญ่มองว่าเป็นการสร้างความมีระเบียบเรียบร้อย แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่กลุ่มนั้นๆกำหนดขึ้นมาเอง ต้องแยกกันระหว่างการเข้าเรียนกับการแต่งกาย หยกแต่งกายผิดระเบียบแต่ก็ยังเป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้นอยู่ไม่เกี่ยวว่าสิทธิ์การเป็นนักเรียนจะเสียไป"

นายสิงห์ กล่าวต่ออีกว่า กฎต่างๆที่ออกมามองว่าเป็นการริบรอนเสรีภาพในร่างกายตัวคนทุกคนมีเสรีภาพโดยกำเนิด อยากให้การศึกษายึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางไม่ใช่เอาอำนาจไว้ที่ผู้บริหารซึ่งไม่มีความยึดโยงกับนักเรียน ไม่จำต้องมีการโหวดเลือก อย่างน้อยควรให้อำนาจสภานักเรียนออกกฎนักเรียนได้ครึ่งนึงก็ยังดีหรือออกกฎนักเรียนที่มีอะไรยึดโยงกับตัวนักเรียนเองไม่ถึงต้องมีหน้าที่บริหารการเงินของโรงเรียนแต่อย่างต้องมีอะไรเกี่ยวกับตัวนักเรียนบ้าง สำหรับชุดลูกเสือ ยุวกาชาดมองว่าไม่มีความจำเป็นต่อไปในอนาคต แต่มองวิชาลูกเสือ เป็นวิชาที่จำเป็นแต่ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดลูกเสือมาเรียน เพราะไปเรียนวิชาอื่นไม่เห็นต้องใส่ชุดวิชานั้นๆ เพราะตอนไปเรียนวิชา ชีวะ เคมี ไม่เห็นจำเป็นต้องใส่ชุดกราวไปเรียนก็ยังเรียนได้

ขณะที่ น.ส.มาแพร เทือกกอง อายุ 18 ปี กล่าวว่า ในกรณีของหยกไม่ได้มองเป็นความสุดโต่ง ถ้าจะมีใครทักท้วงขึ้นมาก็ไม่ได้แปรว่าผิดเพราะการแต่งกายชุดนักเรียนต้องมีสิทธิเสรีภาพบนร่างกาย จึงมองว่าไม่ใช่ความสุดโต่งที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับร่างกายของตัวเองว่าจะใส่ชุดแบบไหนมาเรียนได้บ้างส่งผลต่อการเรียนหรือไม่ 

"นักเรียนสมัยก่อนกับตอนนี้ต่างกันมากเพราะปัจจุบันสื่อโซเชียลเข้าถึงได้ง่ายการหาข้อมูลหลักฐานต่างๆในการโต้แย้งก็เปิดเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าอายุเท่าไรก็สามารถถกเถียงกันในเหตุผลได้ ในยุคนี้การใส่ชุดนักเรียน ทรงผม ไม่ควรจะมาบังคับกันมองว่าไม่มีความจำเป็นอะไรต้องกำหนดกฎอะไรแบบนี้ออกมาอีกให้ไปกำหนดเรื่องการเรียนการสอนทิศทางการศึกษาดีกว่า เพราะว่าการที่จะมีเสรีเครื่องแบบหรือเสรีทรงผมเป็นเรื่องที่ธรรมดาปกติ ทำไมไม่หาความเหมาะสมร่วมกันว่าแต่งได้ขนาดไหนทำแค่ไหนได้แบบนี้จะดีกว่าเพราะผู้ใหญ่ไม่เปิดพื้นที่รับฟังอะไรเลย เรื่องของเสรีภาพเครื่องแบบนักเรียนถ้ามองเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง"

น.ส.มาแพร กล่าวต่ออีกว่า  พ่อแม่ตนเองได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ถ้ารวมทุกอย่างน่าจะประมาณเป็น 1,000 บาท และต้องซื้อประมาณ 2-3 ชุด นอกจากนั้นยังมีค่าเทอม ค่ากินอยู่ ค่าหนังสือทุกวันนี้ยังต้องจ่ายยังไม่ได้ฟรีจริงยังต้องจ่ายอยู่บางส่วนและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อย ถ้ากำหนดทิศทางการศึกษาเองได้จะต้องยึดโยงนักเรียนเป็นหลักเพระว่าในโรงเรียนเป็นการจำลองสภาพสังคมก่อนที่เด็กจะออกมาใช้ชีวิตในสังคม 

"การทำอะไรหลายๆอย่างควรจะคิดถึงสภาพสังคมจริงๆและเอานักเรียนเป็นหลักไม่ใช่เพื่อใครคนใดคนหนึ่ง ตอนนี้มองว่ากระทรวงศึกษาธิการทำไมไม่ใช่อำนาจออกกฎระเบียบให้เหมือนกันทั้งหมด ทำไมถึงต้องให้อำนาจโรงเรียนนั้นมองว่าตรงนี้คือปัญหาในเมื่อกระทรวงศึกษาฯ มีอำนาจที่สุดทำไมไม่ใช้เพื่อสังคมจริงๆ มองว่าการให้อำนาจ ผอ. โรงเรียนแบบนี้มองว่าไม่มีความเท่าเทียม เพราะ ผอ. บางคนก็อนุรักษ์นิยม ผอ.บางคนเสรีนิยม  แบบนี้เกิดความไม่เท่าเทียมในสังคมเพราะเป็นการใช้อำนาจไม่เท่าเทียมกัน"