นักศึกษาไทยบินลัดฟ้าสู่พิธีฮัจย์ประเทศซาอุดีอาระเบีย ร่วมงานบริษัทเอกชนชื่อดังด้านกิจการฮัจย์ ผลฟื้นสัมพันธ์ ไทย - ซาอุฯ

นักศึกษาไทยบินลัดฟ้าสู่พิธีฮัจย์ประเทศซาอุดีอาระเบีย ร่วมงานบริษัทเอกชนชื่อดังด้านกิจการฮัจย์ ผลฟื้นสัมพันธ์ ไทย - ซาอุฯ





ad1

 ภายหลังการฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย มหาวิทยาลัยเกริก โดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย เพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการระหว่างกัน และได้หารือความร่วมมือทางวิชาการกับกลุ่มมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศซาอุดีอาระเบียเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานประเทศซาอุดิอาระเบีย จึงเกิดความร่วมมือกันของ บริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ของกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้กับมหาวิทยาลัยเกริก ดำเนินการคัดเลือกนักศึกษาจำนวน 8 คน โดยมีคณะกรรมการสอบคัดเลือกจากหน่วยงานที่หลากหลาย

ประกอบด้วย นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล อะมีรุ้ลฮัจย์ (หัวหน้าคณะผู้แทนฮัจย์ทางการ) ประจำปี 2566 นายเสก นพไธสง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ นายประสาร บุญส่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย นายฐานิศร์ ณ สงขลา อดีตเอกอัครราชทูตประจำประเทศบาห์เรน และอดีตกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย นายบัญญัติ ยุมยวง อดีตกงสุลฝ่ายกิจการฮัจย์ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย นายไพศาล กาเหย็ม นายกสมาคมผู้ประกอบการกิจการฮัจย์ นายเอกพงษ์ ยีหล๊ะ นายกสมาคมแซะห์แห่งประเทศไทย อาจารย์ ดร.ปริญญา ประหยัดทรัพย์ ผู้อำนวยการหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลามเพื่อสอบคัดเลือกผู้มีสิทธิรับทุนฝึกปฏิบัติงานในกิจการฮัจย์ ประจำปี 2566 ปฎิบัติงานในการดูแลผู้ประกอบพิธีฮัจย์จากหลากหลายประเทศภายใต้โครงการฝึกปฎิบัติงานฮัจย์ Scholarship for Hajj Volunteer Program at Saudi Arabia 2023

โดยในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 นักศึกษาฝึกปฎิบัติงานเอกการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม มหาวิทยาลัยเกริก จำนวน 8 คน ได้เดินทางออกจากประเทศไทยสู่ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยถึงที่หมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีความพร้อมในการฝึกปฎิบัติของบริษัท มะชาริก เพื่อกิจการฮัจย์ในการดูแลผู้ประกอบการณ์ฮัจย์ ตลอดจนการช่วยเหลือแก่ผู้แสวงบุญในทุกด้านระหว่างฤดูกาลฮัจย์ ปี 2566 ในครั้งนี้ ซึ่งภารกิจในการฝึกปฎิบัติงานของนักศึกษานั้น ทางฝ่ายซาอุดีอาระเบียรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตั๋วเครื่องบิน ที่พัก วีซ่า และมีค่าตอบแทนในห้วงเวลาการปฏิบัติงานให้เป็นขวัญกำลังใจ

นอกจากนั้น ก่อนการออกเดินทางสู่การฝึกปฎิบัติงาน นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกฝึกปฎิบัติงานฮัจย์มีโอกาสเข้าเยี่ยมและรับโอวาทจากนายวรวุฒิ พงษ์ประภาพันธ์ อธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีนายเสก นพไธสง รองอธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ และผู้อำนวยการกองตะวันออกกลางเข้าร่วมด้วย ในตอนหนึ่งอธิบดีฯ ได้กล่าวอวยพรและเน้นย้ำความสำคัญของการเป็นตัวแทนประเทศไทยที่จะไปสร้างชื่อเสียงและความภาคภูมิใจในการบริการแก่ผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ในโอกาสนี้ อธิบดีกรมเอเชียใต้ฯ ได้รับมอบชุดฝึกปฎิบัติงานภาคสนามที่ออกแบบพิเศษเพื่อการฝึกปฎิบัติงานฮัจย์ในครั้งนี้แก่นักศึกษาทุกคน

โครงการฝึกปฎิบัติงานฮัจย์ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติของมหาวิทยาลัยเกริก โดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ภายใต้การสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดี รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ MR. LI SHAOYUN ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ และบริษัท มะชาริก หนึ่งในหกบริษัทเอกชนชั้นนำที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเลือกให้เป็นผู้ดำเนินกิจการฮัจย์ของกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซี่งสอดคล้องกับพันธกิจหลักของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพที่จะผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติและสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาได้ลงมือปฎิบัติงานจริงในสถานประกอบการ และสร้างแรงบันดาลใจแก่นักศึกษาของวิทยาลัยานานาชาติอิสลามทุกคนด้วย

นับว่ามหาวิทยาลัยเกริก ได้รับโอกาสสำคัญยิ่งจากประเทศซาอุดีอาระเบีย และภาคภูมิใจที่ วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ ได้ริเริ่มในหลักสูตรการศึกษาภาคธุรกิจอิสลาม ทั้งสามหลักสูตร และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มีการทำความร่วมมือและสร้างเครือข่ายระหว่างกันต่อไปอีกในอนาคตอย่างแน่นอน