พ่อเมืองชลบุรีประชุมความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)

พ่อเมืองชลบุรีประชุมความคืบหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)





ad1

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมชลบุรี ศาลากลางจังหวัดชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นหน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนของ กลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองเพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก การรายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก การรายงานผลการศึกษา ระบบขนส่งรองในเขตจังหวัดฯ ตามโครงการศึกษาจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ กลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง เพื่อรองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเชิงพื้นที่โดยในระยะแรก เป็นการยกระดับพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยองให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนํา เป็นประตูเชื่อมโยงเอเชีย (Gateway to Asia) ด้วยการพัฒนาอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดให้เชื่อมโยงกับโครงการของรัฐบาล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศซึ่งในการขับเคลื่อนเพื่อที่จะผลักดันให้โครงการ EEC ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อทำให้โครงการนี้สามารถดำเนินต่อไปได้และเกิดประโยชน์สูงสุด

โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกรวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น เป็นโครงการที่เชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานครและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่างท่าอากาศยานเข้าสู่ เขตเมืองและเขตธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็วพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มักกะสันให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร กับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC Gateway) และพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา เป็นโครงการฯ ที่ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อมและลดอุบัติเหตุบนถนน เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีระบบควบคุมที่มีความปลอดภัยสูง จึงมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้น้อยมาก