ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญกระตุ้นเศรษฐกิจ-โปรโมตทุเรียนภูเขาไฟ

ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญกระตุ้นเศรษฐกิจ-โปรโมตทุเรียนภูเขาไฟ





ad1

ศรีสะเกษ- ผู้ว่าฯศรีสะเกษเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญประจำปี 2566 ครั้งที่ 21 ทุเรียนภูเขาไฟอำเภอขุนหาญ  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร และเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิต ผลผลิตทางการเกษตร

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ที่สนามกีฬาวงกลมอำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ  นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นประธานเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญประจำปี 2566 ครั้งที่ 21 ในระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 โดยมีนายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภอขุนหาญ นายเจริญชัย จิตรโชติ นายกเทศมนตรีตำบลขุนหาญ  นายพงษ์พัฒน์ ไตรพิพัฒน์ ประธานสภาอุสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดศรีสะเกษ  นายเกษมศานต์  ศรีโพนทอง  ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ  ส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษและอำเภอขุนหาญ นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารสถานศึกษา  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟและประชาชนอำเภอขุนหาญ  ร่วมในพิธีเปิดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญ ประจำปี 2566 เป็นจำนวนมาก

สำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

ภายในงานมีกิจกรรมการออกร้านจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะ ทุเรียนภูเขาไฟ และผลผลิตเกษตรอื่นๆ ซึ่งผลิตได้ดีในอำเภอขุนหาญ เช่น ทุเรียน เงาะ สะต่อ มังคุด ฝรั่ง ลำไย ลองกอง กระท้อน ลิ้นจี่ ฯลฯ  การออกร้านจำหน่ายสินค้าของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และสินค้า TOP ของอำเภอขุนหาญ  กิจกรรมรำวงย้อนยุคพื้นบ้าน(ขุนหาญคาลิปโซ่) นอกจากนี้สำนักงานกิ่งกาชาดอำเภอขุนหาญ ยังได้มอบทุนการศึกษาให้แก่ในอำเภอขุนหาญจำนวน 37 ทุนๆละ 2,000บาท รวมเป็นเงินทั้งจำนวน 70,000 บาท อีกด้วย

พรชัย วงศ์งาม นายอำเภอขุนหาญ

ทั้งนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ ผลผลิตทางการเกษตร และOTOP ของอำเภอขุนหาญ  เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เกษตรกร และเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิต ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนภูเขาไฟให้มีคุณภาพดี ตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ  เพื่อกำหนดให้เป็นงานเทศกาลที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอขุนหาญทางด้านการเกษตรและการท่องเที่ยวของอำเภอ  เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการตลาด เพิ่มช่องทางการตลาด เปิดโอกาสการพบกันระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มพ่อค้าเป็นจุดเจรจาธุรกิจเกษตร เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในอำเภอขุนหาญ ตามโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินเข้ามาในอำเภอขุนหาญเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร/กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและเชิดชูวัฒนธรรมพื้นบ้าน  เพื่อรำลึกคุณความดีของ"ขุนหาญ" ผู้สร้างเมืองขุนหาญในอดีตและชน 3 เผ่า อำเภอขุนหาญ เช่น เผ่าเขมร เผ่าส่วยเผ่าลาว ที่สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข พัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภอขุนหาญ  กล่าวว่า การจัดงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญประจำปี 2566  ครั้งที่21 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้โดยความร่วมมือของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถานศึกษา ภาคเอกชนและประชาชนทุกหมู่เหล่าในอำเภอขุนหาญ  ซึ่งอำเภอมีประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีความหลากหลายของผลผลิต และมีออกตลอดทั้งปี มีพื้นที่เหมาะสมด้านการผลิตการเกษตร เป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิเพื่อการส่งออก

นอกจากนั้นยังมี พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ที่นำรายได้เข้าสู่อำเภอขุนหาญ ได้แก่ มันสำปะหลังยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะพื้นที่ตอนใต้ของอำเภอเป็นแหล่งต้นลำธาร  ที่พื้นที่มีศักยภาพสูงเหมาะสมแก่การปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น จากแผนพัฒนาการเกษตรของอำเภอที่มุ่งเน้นที่การผลิตของเกษตรกรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั่วไป

ปัจจุบันทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใหม่ๆมากยิ่งขึ้น เช่นทุเรียน เงาะ มังคุด สะตอ และยางพารา ที่เป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชทางเลือกใหม่ชนิดอื่นๆ ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่  ลองกอง สละ ที่เป็นพืชที่ยังมีอนาคตทางการตลาด ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีการผลิตได้น้อย ในปี2566 อำเภอขุนหาญมีมูลค่ารวมของผลผลิต ทางการเกษตรสูงถึงปีละมากกว่า 100 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนเที่ยวชมและลองชิมทุเรียนภูเขาไฟอำเภอขุนหาญในงานเทศกาลผลไม้และของดีศรีขุนหาญประจำปี 2566  ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 4-10 กรกฎาคม 2566 นี้ด้วย

เสนาะ วรรักษ์/รายงาน