ศอ.บต. สร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาชายแดนใต้แก่คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ

ศอ.บต. สร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาชายแดนใต้แก่คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ





ad1

ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. สร้างความเข้าใจแนวทางการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของ ศอ.บต. แก่คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ในกิจกรรม Army Open House

วันนี้(6กค.66)ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.  บรรยายสรุปในกิจกรรม Army Open House ครั้งที่ 3 จัดโดย กรมข่าวทหารบก ณ ห้องประชุมเสนาณรงค์ ค่ายเสนาณรงค์ มณฑลทหารบกที่ 42 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่5กรกฎาคมที่ผ่านมาโดยมี พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นประธาน

ในการบรรยายสรุปในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ประจำประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 13 ประเทศ  ได้แก่ แคนาดา จีน อินเดีย ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์  สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ บูรไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ได้รับทราบถึงบทบาทหน้าที่ ภารกิจของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และแนวทางด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาด้านสำคัญในพื้นที่ ได้แก่ ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ด้านการสร้างหลักประกันในทางสังคมจิตวิทยา และด้านการสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี

ในการนี้ นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.  ได้ตอบข้อซักถามจากผู้แทนผู้ช่วยทูตทหาร เกี่ยวกับการวัดผลด้านการพัฒนาในพื้นที่ว่า ในการดำเนินงานได้มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด หรือ KPI ไว้อย่างชัดเจน โดยมิติด้านการพัฒนามี KPI อย่างน้อย 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีสภาพัฒน์เก็บสถิติไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะรายได้จากการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีรายงานผลตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่เพิ่มขึ้น และมีการใช้จ่าย ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) การสร้างชุมชน/สังคมพหุวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งทุกระดับ เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา

ซึ่งมีพื้นที่ชุมชนต้นแบบต้อนรับคณะบุคคลสำคัญมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ เช่น คณะของผู้ช่วยเลขาธิการ OIC ฝ่ายการเมือง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 3) การวัดความเชื่อมั่นของประชาชนต่อหน่วยงานของรัฐ โดยมีการสำรวจความเชื่อมั่นโดยหน่วยงานทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอผลสำรวจรายไตรมาสและรายปี  สำหรับการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในพื้นที่ นั้น ภาครัฐให้ความสำคัญ และ ศอ.บต. ได้จัดทำแผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือกับภาครัฐอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดมากขึ้น

อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นในภาพรวมทำให้คณะผู้ช่วยทูตทหารทั้ง 13 ประเทศได้รับทราบข้อเท็จจริงและมีความเข้าใจการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสานสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจ ตลอดจนการต่อยอดในการประสานความร่วมมือ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในอนาคตอีกด้วย