โครงการชลประทานศรีสะเกษลุยสางปัญหานายทุน-ปชช.รุกยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 4 แห่งนานนับปี

โครงการชลประทานศรีสะเกษลุยสางปัญหานายทุน-ปชช.รุกยึดพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 4 แห่งนานนับปี





ad1

โครงการชลประทานศรีสะเกษ ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3  สำนักงาน  ป.ป.ช.ประจำจังหวัดศรีสะเกษ  ชมรม strong (สตรอง)จิตพอเพียงฯ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ประชุมหารือแก้ไขปัญหาร่วมกันแล้วยกขบวนใหญ่..ตลุย!!  พื้นที่อ่างเก็บน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ 4 แห่ง ที่นายทุนและราษฏร์บุกรุกมานานนับปี

จำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ

ผู้สื่อข่าวรายงานมาจากชายแดนกัมพูชา วันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 นายจำรัส สวนจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายเทอดศักดิ์ เขียนนิลศิริ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือร่วมกันในการแก้ไขปัญหากรณีมีผู้บุกรุกในเขตพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำจำนวน 4  แห่ง  ซึ่งมีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและชี้แจง  ได้แก่ สำนักงาน  ป.ป.ช.ภาค 3   สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานป่าไม้จังหวัดศรีสะเกษ  สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ  ชมรม strong(สตรอง)จิตพอเพียงฯจังหวัดศรีสะเกษ  กองทัพภาคที่ 2 ฯลฯ โดยมีนางสาวอภินัทธ์ พัฒนากรสิตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน

โดยในที่ประชุมหน่วยงานต่างๆ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการบุกรุกซึ่งมีทั้งกลุ่มนายทุนและกลุ่มราษฎร ทำการบุกรุกบริเวณอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง  ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู อ่างเก็บน้ำห้วยศาลาและอ่างเก็บน้ำโอตาลัต ซึ่งมีจำนวนผู้บุกรุกทั้ง 4 แห่งรวมทั้งสิ้น 103 ราย แยกเป็นกลุ่มนายทุน 6 รายและกลุ่มราษฎรจำนวน 97 ราย  ซึ่งโครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้รายงานผลการปฎิบัติงานได้แก่การดำเนินการตามคำสั่งจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีนายอำเภอภูสิงห์เป็นประธาน  การตรวจสอบและรายงานผู้บุกรุก  ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน  ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

และแนวทางการแก้ไขปัญหา  รวมถึงรายงานผลการดำเนินการตามข้อตกลงกับสำนักงาน  ป.ป.ช.ภาค3  ซึ่งในที่ประชุมหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม ต่างเห็นใจและชื่นชมโครงการชลประทานศรีสะเกษที่ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง  และเป็นรูปธรรมอันจะก่อประโยชน์สูงสุดให้กับจังหวัดศรีสะเกษในการนี้  โครงการชลประทานศรีสะเกษ ได้ใช้เครื่องมือ “สแกน&คลิ๊ก รู้เขตชลประทาน” ที่ได้รับรางวัล ผลงานนวัตกรรมดีเด่น กรมชลประทาน พ.ศ. 2565 (RID Innovation Award 2022) นำมาประยุกต์ในการตรวจสอบแนวเขตดังกล่าวด้วย

และในช่วงบ่ายคณะทั้งหมดรวมถึงสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ  อำเภอภูสิงห์  เพื่อตรวจสอบบริเวณที่มีราษฎรทำการบุกรุกเพื่อทำการค้า  โดยบริเวณดังกล่าวโครงการประทานศรีสะเกษ ได้ตรวจสอบเมื่อปี 2562 พบว่าอาจมีการบุกรุก  เนื่องจากมีหมุดหลักฐานไม่ชัดเจน  จึงตั้งแผนงานการซ่อมแซมหลักเขต  และต่อมาได้ดำเนินการซ่อมแซมหลักเขตในปี 2563  จนแล้วเสร็จ จึงพบว่าบริเวณดังกล่าวมีการบุกรุกโดยมีการก่อสร้างอาคารบ้านพักและร้านอาหาร  และได้สำรวจผู้บุกรุกทั้งหมดพบว่ามีราษฎรบุกรุกอ่างเก็บน้ำห้วยสำราญจำนวนทั้งสิ้น 39 ราย แยกเป็นกลุ่มนายทุน 2 รายและกลุ่มราษฎร 37 ราย โดยมีการตักเตือนและรายงานกรมชลประทานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่งดังกล่าว เป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่อนุญาตให้กรมชลประทานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ  เพื่อในด้านการชลประทาน รวมถึงเพื่อความมั่นคงตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา  ดังนั้นการดำเนินการทางด้านกฎหมาย  จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นของกรมป่าไม้ ทั้งนี้โครงการฯ จะได้ประสานทุกภาคส่วนเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายระเบียบและข้อบังคับ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับจังหวัดศรีสะเกษต่อไป

โดย...เสนาะ วรรักษ์/รายงาน