"เกาหลีใต้"วิกฤติขาดแคลนกุมารแพทย์ เหตุอัตราเกิดต่ำ รายได้น้อย หมอหันไปเรียนสาขาอื่น

"เกาหลีใต้"วิกฤติขาดแคลนกุมารแพทย์ เหตุอัตราเกิดต่ำ รายได้น้อย หมอหันไปเรียนสาขาอื่น





ad1

เกาหลีใต้เผชิญวิกฤติขาดแคลนกุมารแพทย์ เหตุอัตราการเกิดลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และรายได้น้อย ทำให้หมอหันไปเรียนสาขาวิชาอื่น

สำนักข่าวซีเอ็นเอ รายงานว่า เกาหลีใต้กำลังเผชิญปัญหาวิกฤติการขาดแคลนกุมารแพทย์ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่อัตราการเกิดภายในประเทศของเขาลดลงไปอยู่อันดับต่ำที่สุดในโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่สามารถหาบุคลากรมารับตำแหน่งได้ เสี่ยงกระทบต่อสุขภาพของเด็กๆ ที่ต้องมาพบแพทย์

ทั้งนี้จากข้อมูลของสถาบันกรุงโซล จำนวนคลินิกและโรงพยาบาลกุมารเวชในเมืองหลวงแห่งนี้ลดลง 12.5% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 เหลือเพียง 456 แห่ง สวนทางกับจำนวนคลินิกจิตเวชที่เพิ่มขึ้นถึง 76.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ศูนย์วิสัญญีวิทยาเพิ่มขึ้น 41.2% ทำให้กุมารแพทย์ขาดแคลนทรัพยากร จนหมอเลือกที่จะไม่เรียนสาขาวิชานี้เนื่องจากมองว่าไม่มีอนาคต

ด้านกระทรวงสวัสดิภาพและสุขภาพของเกาหลีใต้ยอมรับว่า มีข้อจำกัดในระบบและกำลังบังคับใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไข ข้อมูลของทางกระทรวงระบุอีกว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 โรงพยาบาลต่างๆ หากุมารแพทย์มารับตำแหน่งได้เพียง 16.3% ของปริมาณที่พวกเขาต้องการเท่านั้น ขณะที่เมื่อ 10 ปีก่อนหาได้ถึง 97.4%

ดร.ซง แท-จิน จากโรงพยาบาล กูโร ในสังกัดของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเกาหลี แสดงความกังวลว่า อีกไม่นานการขาดแคลนกุมารแพทย์จะทำให้ทีมแพทย์ของเขา สูญเสียความสามารถในการให้การรักษาฉุกเฉินไป

“ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราคงรับมือได้ไม่ถึงปี มันไม่ใช่เรื่องใหญ่หากมีผู้ป่วยโรคไม่ร้ายแรงวันละคนสองคน แต่ผลที่ตามมาจากการไม่สามารถดูแลผู้ป่วยโรครุนแรงหรือผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างทันท่วงทีนั้น อาจเลวร้ายมาก”ดร.ซง กล่าว

ขณะที่ ดร. ลิม ฮยอน-แท็ก ประธานสมาคมกุมารแพทย์เกาหลี กล่าวว่า ระบบประกันในปัจจุบันไม่ได้สะท้อนถึงจำนวนผู้ป่วยเด็กที่ลดลง 

“ในต่างประเทศ รัฐบาลจ่ายเงินเพียงพอในการบริหารโรงพยาบาลแม้ว่าคุณจะมีผู้ป่วยเพียง 20 คนต่อวัน” ค่ารักษาต่อครั้งอยู่ที่ราว 10 ดอลลาร์เท่านั้น ดังนั้นคลินิกจำเป็นต้องมีคนไข้ประมาณ 80 คนต่อวัน”ดร.ลิม กล่าว

นอกจากนี้กุมารแพทย์ยังมีรายได้ต่ำกว่าแพทย์สาขาอื่นๆจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่าในปี 2563 กุมารแพทย์ในประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 134 ล้านวอน (ราว 3.59 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อปีของแพทย์สาขาอื่นๆ ว่า 100 ล้านวอน (ราว 2.68 ล้านบาท)