อีกัวน่าเมืองไทย!โผล่อวดโฉมนักท่องเที่ยวที่เขื่อนลำแชะ-ชาวโคราชชวนนทท.มาดูด้วยตัวเองสักครั้ง

อีกัวน่าเมืองไทย!โผล่อวดโฉมนักท่องเที่ยวที่เขื่อนลำแชะ-ชาวโคราชชวนนทท.มาดูด้วยตัวเองสักครั้ง





ad1

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ “ประธาน น้อย”  ได้โพสต์ภาพถ่ายและวีดีโอ พร้อมระบุข้อความว่า “ที่ลำแชะยังมีอะไรสวยๆมากมายครับสนใจมาได้เลยครับ”  โดยภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ เป็นภาพของตัว “ตะกอง”    สัตว์เลื้อยคลานหายากของไทย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535” ซึ่งผู้โพสต์สามารถบันทึกภาพเอาไว้ได้อย่างใกล้ชิดที่บริเวณต้นน้ำเขื่อนลำแชะ ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และยังได้หยอกล้อกับเจ้าตะกองอยู่พักหนึ่ง ก่อนปล่อยกลับคืนสู่ป่าในที่สุด  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแหล่งต้นน้ำบริเวณนี้เป็นอย่างดี เพราะน้อยมากที่ผู้คนจะมีโอกาสได้พบเจ้าตะกอง หรือ “อีกัวน่าเมืองไทย” อย่างใกล้ชิดได้ขนาดนี้

จากการสอบถาม นายคำพา สงกระโทก ชาวบ้านมาบกราด หมู่ที่ 17 ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ผู้ถ่ายภาพตะกอง และโพสต์ลงโซเชียล บอกว่า ตะกองตัวดังกล่าว ตนได้เจอที่บริเวณหน้าศาลย่าค็อก ซึ่งเป็นจุดทางเข้าน้ำตกวังเต่า บริเวณเหนือเขื่อนลำแชะ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่า เป็นโชคดี เพราะตะกองแม้จะยังมีอยู่ในพื้นที่ แต่ก็หาโอกาสเจอตัวอย่างใกล้ชิดแบบนี้ได้ยาก ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ธรรมชาติยังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก เพราะชาวบ้านในแถบนี้ช่วยกันอนุรักษ์ดูแล อาจจะมีโอกาสได้เจอสัตว์ป่าอีกหลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับดวง ไม่มีใครไปล่าหรือไปทำร้าย  ทำให้ยังคงความสมบูรณ์อย่างที่เห็น  จึงอยากเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมเขื่อนลำแชะกันมากๆ รับรองว่า จะไม่ผิดหวังกับความสวยงามและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่างแน่นอน

สำหรับ “ตะกอง” หรือ ลั้ง  หรือ กิ้งก่ายักษ์ เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทกิ้งก่า ในวงศ์กิ้งก่า ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทย  จะมีรูปร่างทั่วไปคล้าย “อีกัวน่า” ที่พบในอเมริกากลางและอเมริกาใต้  โดยตะกองจะมีขนาดโตเต็มที่ยาวประมาณ 90-120 เซนติเมตร โดยวัดจากปลายจมูกถึงโคนหาง จะยาว 35-50 เซนติเมตร และส่วนหางจะยาว 55-70 เซนติเมตร ซึ่งตัวเมียจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ราว 10-30 เซนติเมตร และจะมีหัวป้อมกว่า  สีของลำตัวเข้มกว่า หางมีแถบสีดำเป็นปล้องๆ

ซึ่งสีลำตัวปกติของตะกองจะมีสีเขียวเข้ม สามารถเปลี่ยนสีให้เข้มขึ้นหรืออ่อนลงตามสภาพแวดล้อมได้  มีพฤติกรรมชอบนอนผึ่งแดดตามคาคบไม้ริมห้วยลำธาร  เมื่อตกใจจะวิ่ง 2 ขาได้ โดยหุบขาหน้าไว้แนบชิดลำตัว โดยปกติเมื่อมีภัยจะกระโจนลงน้ำ สามารถดำน้ำได้เป็นเวลานาน และอาจมีอายุยืนถึง 30 ปีเลยทีเดียว  ส่วนสถานภาพของตะกองในปัจจุบัน พบประชากรน้อยลงมาก เนื่องจากถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยง หรือทำเป็นอาหาร นอกจากนี้ แหล่งที่อยู่อาศัยยังถูกทำลาย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535