30 ปี!โศกนาฎกรรมตึกถล่มโคราช นาทีชีวิต 137 ศพ ใต้ซากปรักหักพัง

30 ปี!โศกนาฎกรรมตึกถล่มโคราช นาทีชีวิต 137 ศพ ใต้ซากปรักหักพัง





ad1

ครบรอบ 30 ปี เหตุการณ์“โรงแรมรอยัลพลาซ่า”โรงแรมชื่อดังกลางเมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่ระหว่างถนนจอมสุรางค์ และถนนโพธิ์กลาง ตำบลในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ได้พังถล่มลงมาเมื่อเวลา 10.12 น. ของวันที่ 13 สิงหาคม 2536 ซึ่งในเวลาไม่ถึงสิบวินาที โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 137 ราย และบาดเจ็บ 227 คน นับเป็นเหตุการณ์สลดที่ชาวจังหวัดนครราชสีมาไม่มีวันลืม  เพราะจากสภาพตัวอาคารของโรงแรมที่สูง 6 ชั้น ได้พังทลายลงมาหมด เหลือเพียงโถงลิฟท์โดยสารที่สร้างแยกออกมาจากโครงสร้างอาคารที่ไม่ถล่มลงมาเท่านั้น  

ขณะเกิดเหตุมีการจัดประชุมสัมมนาอยู่ 2 ชุด มีผู้คนอยู่ภายในอาคาร รวม 379 คน ในจำนวนนี้ 117 คน เป็นข้าราชการของกระทรวงศึกษาธิการที่เข้าร่วมการสัมมนาในห้องเบญจมาศ ชั้น 2  และอีก 59 คน เป็นพนักงานของบริษัทเชลล์ กำลังประชุมอยู่ที่ห้องพิกุลชวนชม ที่ชั้น 4  ส่วนอีก 78 คนเป็นผู้มาพักในโรงแรม และ 125 คนเป็นพนักงานของโรงแรม หลังเกิดเหตุต้องปฏิบัติการกู้ภัยค้นหาผู้รอดชีวิตในซากตึกโรงแรมด้วยความยากลำบาก เพราะมีผู้ประสบเหตุจำนวนมากและไม่มีเครื่องมือหนักในการช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่ต้องคลานเข้าไปใต้ซากอาคารที่อาจพังถล่มซ้ำลงมาได้ทุกเมื่อ  ในขณะที่ผู้รอดชีวิตบางส่วนซึ่งติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร ได้รับการกู้ภัยช่วยเหลือจากการติดต่อสื่อสารผ่านโทรศัพท์มือถือ  ทำให้ต้องเร่งระดมค้นหาช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง นานกว่า 20 วัน กระทั่งสิ้นสุดการค้นหาในวันที่ 3 กันยายน 2536  นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดของประเทศ

ทั้งนี้ “โรงแรมรอยัลพลาซ่า” เดิมชื่อ “โรงแรมเมืองใหม่เจ้าพระยา” ได้มีการปรับปรุงโรงแรมให้มีสถานบันเทิงอย่างครบครัน อาทิ อาบอบนวด คาเฟ่ เอ็กเซ็คคิวทีฟผับ เลเซอร์เธค บาร์เบอร์ จนได้รับความนิยมอย่างมากในสมัยนั้น และจากการปรับโฉมโรงแรมขึ้นใหม่ ได้มีการต่อเติมอาคารจาก 3 ชั้น เป็นอาคาร 6 ชั้น พร้อมห้องประชุมสัมมนาขนาดใหญ่ที่ชั้น 6  และยังมีอีก 3 โครงการที่จะทำเพิ่ม คือ ปรับปรุงคาเฟ่ใหม่ทั้งหมด และจะสร้างอาคารจอดรถ สูง 8 ชั้น จอดรถได้ 400 คัน ด้วยงบสูงถึง 30 ล้านบาท กับเตรียมจัดงานใหญ่ฉลองครบรอบ 10 ปีโรงแรมฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2536  แต่กลับมาเกิดเหตุการณ์สลดโรงแรมพังถล่มขึ้นเสียก่อนในวันที่ 13 สิงหาคม 2536  จากสาเหตุการก่อสร้างอาคารและการอนุญาตแบบแปลนก่อสร้างอาคารที่ไม่ถูกต้องตามหลัก พรบ.ควบคุมอาคาร ต่อเติมโรงแรมเพิ่มอีก 3 ชั้น ทำให้เสารับน้ำหนักตัวอาคารไม่ไหว อีกทั้งโครงสร้างเสายังไม่ได้เชื่อมยึดติดกัน  ทำให้เสาที่ตั้งอยู่บนคาน แบกรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้คานหลุดออกจากหัวเสาที่ชั้น 2 และโครงสร้างอาคารบนหัวเสายุบตาม  ส่งแรงดึงรั้งกระทบเสาต้นข้างเคียงให้หักล้มตามมาในที่สุด  

ภายหลังเหตุการณ์ เจ้าของอาคารและบุคคลอื่นอีก 5 คน ถูกตำรวจจับกุม ซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดี มาสิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2543 โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายบำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิศวกรควบคุมการก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงแรม ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ส่วนผู้บริหารโรงแรมทั้งหมดพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลผู้บริหารโรงแรมไม่มีความรู้เรื่องโครงสร้าง จึงไม่มีความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด  ส่วนคดีแพ่ง การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ศาลได้พิพากษาให้บริษัท รอยัลพลาซ่าโฮเตล จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด โดยได้ชดใช้เงินให้กับผู้เสียชีวิตรวม 5 ล้านบาท และเงินที่รับบริจาคอีก 5 แสนบาท เฉลี่ยแล้วผู้เสียชีวิต ญาติได้รับเงินรายละ 80,000 บาท และผู้พิการได้รับรายละ 50,000 บาท ทุกๆ วันที่  13 สิงหาคมของทุกปี ครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิต จึงรวมตัวกันทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เคราะห์ร้ายให้ไปสู่สุคติ

ในวันนี้ (13 สิงหาคม 2566) ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์โรงแรมรอยัลพลาซ่าถล่ม โดยสถานที่เกิดเหตุ ณ ปัจจุบัน เป็นกรรมสิทธิ์ของ “ศิลาปาร์ค” ซึ่งได้ปิดพื้นที่เอาไว้ ยังไม่มีการก่อสร้างหรือดำเนินกิจการใดๆโดยเจ้าของที่ดินได้ติดป้ายให้เช่าเอาไว้จนถึงปัจจุบัน ส่วนสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษานครราชสีมา ได้จัดพิธีเชิดชูเกียรติครูและนักเรียนดีเด่นโรงเรียนมัธยมศึกษาจังหวัดนครราชสีมา ขึ้นที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา อำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมกับรำลึกไว้อาลัยต่อคณะครู-บุคลากรที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกโรงเเรมรอยัลพลาซ่า ถล่มเมื่อ 30 ปี ที่ผ่านมาด้วย

ในขณะที่ผู้สื่อข่าวก็ได้เดินทางไปพบกับนางนาตยา แหวนโคกสูง (นามสกุลเดิมคือฉิมดี) หนึ่งในผู้รอดชีวิตที่ถูกช่วยเหลือออกมาเป็นคนสุดท้ายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งวันนี้ยังคงเหลือร่องรอยบาดแผลที่ได้รับคือขาทั้ง 2 ข้างโดนตัดออกหมด เนื่องจากโดนคานปูนทับขาทั้ง 2 ข้างแหลกละเอียดจึงต้องตัดขาออกไป โดยนางนาตยา ซึ่งปัจจุบันนี้มีอายุ 59 ปี ได้เล่าเหตุการณ์วินาทีวันเกิดเหตุให้ฟังว่า ตนกำลังทำความสะอาดห้องพักไปได้ 4 ห้อง ระหว่างกำลังทำความสะอาดห้องที่ 4 ได้ยินเสียงมาจากชั้นบนก่อน อีกไม่กี่นาทีต่อมา พื้นที่บริเวณที่ตนยืนอยู่ก็พังลงไปด้านล่าง  หลังจากนั้น ตนก็มองไม่เห็นอะไรอีกเลย เพราะมีแต่ความมืด ได้ยินแต่เสียงคนร้องขอความช่วยเหลือ ในเวลานั้นตนเข้าใจเพียงว่า มันถล่มลงเฉพาะพื้นที่ที่ตนอยู่เพียงเท่านั้น และในช่วงเวลานั้น ตนก็รู้สึกเจ็บและชาที่ขาแต่ไม่สามารถขยับตัวไปไหนได้  รู้สึกกลัวมากเพราะมองอะไรไม่เห็น ได้ยินแต่เสียงของคนร้องขอความช่วยเหลือรอบตัวเต็มไปหมด

หลังจากเวลาผ่านไป ไม่รู้วันเวลาแน่ชัด ตนยังรู้สึกตัวและมีสติตลอดเวลา อาจมีหลับไปบ้างจากอาการอ่อนเพลียคิดในใจเห็นแต่หน้าลูกทั้ง 2 คนที่ยังเล็กอยู่ จึงทำให้มีกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อ  จนกระทั่ง เจ้าหน้าที่ฯ ขุดลงมาเจอและเข้าช่วยเหลือตนที่นอนเจ็บอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด มารู้ในภายหลังว่า ตนถูกช่วยเหลือออกมาเป็นคนสุดท้าย ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลนานกว่า 6 เดือน เพราะแผลที่ได้รับมาค่อนข้างสาหัส จนทำให้เสียขาทั้ง 2 ข้างไป จากเหตุการณ์ในวันนั้น ก็ผ่านมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตนก็ยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่สามารถลืมได้ เนื่องจาก เกิดเหตุในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2536 หลังจากวันแม่ 12 สิงหาคมเพียง 1 วัน จึงจดจำได้ง่าย ในช่วงหลังจากเกิดเหตุไม่กี่ปี ตนก็ยังคงรู้สึกไม่ดีทุกครั้งที่ครบรอบเหตุการณ์นี้ เพราะทำให้ตนต้องเสียขาทั้ง 2 ข้างไป รู้สึกคิดมากและเป็นกังวลในการดำเนินชีวิต แต่ปัจจุบันนี้ผ่านมานานกว่า 30 ปีแล้ว แม้จะจำเหตุการณ์ทุกนาทีได้แต่ก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะมีคนในครอบครัวทั้งสามี ลูกชาย  ลูกสาว และหลาน อีก 3 คน ที่ให้ความอบอุ่นและคอยให้กำลังใจเรื่อยมา จึงทำให้มีความสุขและมีกำลังใจต่อสู้ดำเนินชีวิตในทุกวันนี้.

โดย...ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ/นครราชสีมา