อธิบดี พช. ผนึกกำลังพัฒนาการอำเภอและพัฒนากรจากทั่วประเทศ รุ่นที่ 4 ขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีไทย

อธิบดี พช. ผนึกกำลังพัฒนาการอำเภอและพัฒนากรจากทั่วประเทศ รุ่นที่ 4 ขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตสตรีไทย





ad1

อธิบดี พช. ผนึกกำลังพัฒนาการอำเภอและพัฒนากรจากทั่วประเทศ รุ่นที่ 4 “ความสำเร็จไม่เกี่ยวกับวุฒิภาวะ แต่อยู่ที่ความคิดและความตั้งใจในสิ่งที่จะทำ” ขับเคลื่อนงานด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจเพื่อคุณภาพชีวิตของสตรีทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 09.30 น.นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับอำเภอ/อกส.กทม. รุ่นที่ 4 ณ ห้องประชุม Midas 1 โรงแรมไมด้า ดอนเมืองแอร์พอร์ต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร  โดยมี นายสุรพล  แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับอำเภอ/อกส.กทม. ให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการบริหารงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีแนวทางการปฏิบัติหน้าที่สอดคล้องกับเป้าหมายและภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่มเป้าหมาย รุ่นที่ 4 จำนวน 197 คน ประกอบด้วย พัฒนาการอำเภอ จำนวน 16 คน และนักวิชาการพัฒนาชุมชนผู้รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับอำเภอ จำนวน 181 คน โดยมีการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการแบ่งกลุ่มวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และแนวทางแก้ไข โดยวิทยากรที่ให้ความรู้ ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบภายใน กรมการพัฒนาชุมชน

นายอรรษิษฐ์  สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่ปี 2559 เป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน เนื่องจากเป็นแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ สามารถเข้าถึงได้ง่าย มีวงเงินสูงสุดโครงการละไม่เกิน 200,000 บาท สามารถเป็นแหล่งทุนที่สำคัญที่ใช้ในการประกอบอาชีพและพัฒนาองค์กรสตรี ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับประเทศหนุนเสริมภารกิจต่าง ๆ ของกรมการพัฒนาชุมชน การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่เปรียบเป็นรากฐานของความสำเร็จของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในการเป็นกองทุนของสตรีเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาสตรีให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในบทบาทต่าง ๆ ในสังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขอให้นำเงินกองทุนมาใช้และบริหารจัดการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ

การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในพื้นที่ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน ประสานงานการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ โดยการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีระดับอำเภอ/ตำบล/เทศบาลที่รับผิดชอบแก่ภาคีการพัฒนา ผู้นำ กลุ่ม องค์กร จึงจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในระดับอำเภอ/อกส.กทม. เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ เกิดผลสัมฤทธิ์ หากเกิดปัญหา/ อุปสรรคขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า “ปัญหามีไว้แก้ อย่าหนี้หรือทิ้งปัญหาไว้” เช่น จังหวัดนราธิวาส ได้แลกเปลี่ยนถึงการขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการหนี้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญ กำชับให้ทุกอำเภอในการให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนงาน นำมาตรการที่กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีประกาศใช้มาประชาสัมพันธ์และเชิญชวนให้สมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเข้าร่วม เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้ให้กับสมาชิก

โดยผลการบริหารจัดการหนี้จากร้อยละ 40 คงเหลือร้อยละ 1.67 ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จของการบริหารจัดการหนี้ที่มีความท้าทายต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ทุกภาคีเครือข่ายเป็นองคาพยพที่ไม่สามารถขาดภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งได้ เหมือนฟันเฟืองของเครื่องจักร ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากลงมือทำสิ่งใดขอให้ทำด้วยความตั้งใจและสำเร็จลุล่วง เพราะทุกความสำเร็จที่เกิดขึ้นเราไม่รู้ว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างหรือจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่นมากน้อยเพียงใด อยากให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ตั้งใจรับฟังความรู้จากวิทยากร และทำความเข้าใจในระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามพรบ.ทุนหมุนเวียนปี 2558 และระเบียบข้อบังคับในการบริหารกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีปี 2559 เพื่อนำความรู้และข้อควรระมัดระวังไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานให้มีความถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบของราชการ บูรณาการงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้มีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และบรรลุวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชน “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

นอกจากการขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพสตรีแล้ว ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการหนี้ที่มีเป้าหมายในการบริหารจัดการหนี้ลดลงต่ำกว่าร้อยละ 10 โดยใช้มาตรการที่ได้ประกาศออกไปเป็นเครื่องมือในการแนะนำ ช่วยเหลือสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นลูกหนี้ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้สามารถนำเงินมาชำระคืนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้ตรงตามกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการหนี้ก่อนควบรวม (ปี 2556 - 2559) และหนี้หลังควบรวม (ปี 2560 - ปัจจุบัน) หากสมาชิกชำระคืนเงินได้ตรงตามกำหนดหรือสามารถชำระคืนเงินได้หลังจากเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ แล้ว จะทำให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมีเงินทุนหมุนเวียนในการจัดสรรให้กับสมาชิกได้ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น “ความสำเร็จไม่เกี่ยวกับวุฒิภาวะ แต่มันอยู่ที่ความคิดและความตั้งใจในสิ่งที่จะทำ” เช่น อำเภอที่มีหนี้เกินกำหนดชำระ ร้อยละ 0 จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดอุดรธานี อำเภอเนินสง่า จังหวัดชัยภูมิ อำเภอชื่นชม จังหวัดมหาสารคาม และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี ขอให้สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีถอดบทเรียนของอำเภอและจังหวัดที่สามารถบริหารจัดการหนี้ดีเด่น เพื่อนำมาปรับใช้กับบริบทของพื้นที่ รวมทั้งวิเคราะห์เพื่อปรับให้มีความเหมาะสมของพื้นที่ตนเอง

การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะสำเร็จมากน้อยเพียงใดปัจจัยสำคัญอยู่ที่ระดับพื้นที่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ภาคีเครือข่าย กลไกการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาสตรี และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ขอให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตระหนักในบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับที่มีส่วนสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายทาง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน และการมีส่วนร่วม และสำหรับพัฒนาการอำเภอต้องกำกับ ติดตาม ให้คำแนะนำกับทีม ให้สามารถขับเคลื่อนงานได้ตามหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างถูกต้อง “ร่วมมือสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้สตรี ร่วมแรงใจขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน” อธิบดี พช. กล่าวทิ้งท้าย

ภาพ/ข่าว : งานเครือข่ายสัมพันธ์ กลุ่มพัฒนาศักยภาพกองทุน สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี