“สลัม”หรือชุมชนแออัดประวัติการก่อกำเนิดชุมชนคลองเตย

“สลัม”หรือชุมชนแออัดประวัติการก่อกำเนิดชุมชนคลองเตย





ad1

จากการก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย  ในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ.2481 – 2490 นั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับคลองเตยอย่างรุนแรง การก่อสร้างท่าเรือกรุงเทพ มีความจำเป็นต้องใช้วัสดุก่อสร้าง และแรงงานจำนวนมาก จึงมีการจ้างแรงงานช่าง และแรงงานกรรมกรไทยเป็นจำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ถูกนำมาจากต่างจังหวัด และสร้างแคมป์พักคนงานในบริเวณที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทยนั่นเอง……

ในการสร้างท่าเรือ มีความจำเป็นต้องใช้ที่ดินเป็นจำนวนมาก จึงมีการเวนคืนที่ดินจากพระยาสุนทรโกษา หลวงอาจณรงค์ และตระกูล ณ ระนอง ซึ่งมีที่ดินติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ช่องนนทรีจนถึงริมคลองพระโขนง ซึ่งที่ดินบริเวณดังกล่าวนี้ เป็นที่นาของทั้งสามตระกูลดังกล่าว…..

นอกจากนี้ ยังมีวัดอีกสามแห่งที่ถูกเวนคืน เพื่อเอาที่ดินไปสร้างเขื่อนเทียบเรือสินค้า ประกอบด้วยวัดเงิน วัดทอง และวัดไก่เตี้ย โดยมีการสร้างวัดธาตุทอง เอกมัยขึ้นใหม่ เพื่อรองรับพระสงฆ์จากวัดที่ถูกเวนคืนธรณีสงฆ์นั้น…..

ต่อมาในปี พ.ศ.2503 สหรัฐอเมริกาขอตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานที่มั่นในการทำสงครามเวียดนาม ท่าเรือกรุงเทพของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จึงทำหน้าที่ในการรับ-ส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งรับศพทหารจีไอ.มาชำแหละต้ม เพื่อลอกเอากระดูกส่งกลับบ้าน โดยสถานที่ต้มกระดูกทหารจีไอ. ก็คืออู่รถเมล์ ขสมก. เขตการเดินรถที่ 4 ตั้งอยู่สี่แยกเกษมราษฎร์ (แยกกรมศุลฯ) ในปัจจุบัน…..

กองทัพสหรัฐมีความต้องการแรงงานในการจัดตั้งฐานทัพ ตลอดจนทำงานต่าง ๆ ภายในที่ตั้ง จึงทำให้ผู้คนในต่างจังหวัดที่อยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร พากันหลั่งไหลเข้ามาหางานทำ ด้วยเชื่อว่า กองทัพสหรัฐจ่ายค่าแรงงามและไม่อั้น……

คลองเตย จึงเป็นเป้าหมายหนึ่งของแรงงานอพยพ ในขณะที่การท่าเรือก็เริ่มมีปัญหากับแรงงานที่นำมาก่อสร้างท่าเรือเสร็จแล้วไม่ยอมกลับ พากันยึดแค้มป์คนงานเป็นที่พักอาศัย และประกอบอาชีพต่อเนื่องจนกลายเป็นชุมชนย่อย ๆ ขึ้นมาบนที่ดินของการท่าเรือ การท่าเรือพยายามแก้ปัญหาด้วยการรับเอาคนงานบางส่วน เข้าทำงานเป็นพนักงานการท่าเรือ และจัดสร้างบ้านพักเป็นห้องแถวริมถนนอาจณรงค์ แบ่งออกเป็นล็อก ๆ ละ 8 ห้อง รวม 12 ล็อก…

จากการหลั่งไหลของแรงงานต่างจังหวัด ทำให้การท่าเรือไม่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับชุมชนแค้มป์คนงานในพื้นที่ แม้ว่าจะรับคนงานเหล่านี้เข้าเป็นพนักงานการท่าเรือ และสร้างบ้านให้อยู่กันเป็นสัดส่วนแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่าพนักงานของการท่าเรือเหล่านี้เอง ที่เป็นคนไปชักชวนแรงงานที่อพยพเข้ามาหางานทำกับฐานทัพอเมริกัน ให้เข้ามาปลูกสร้างบ้านพักชั่วคราวบริเวณหลังบ้านพนักงานการท่าเรือ จึงเรียกชุมชนเหล่านี้ว่า “ล็อก” ตามล็อกห้องแถวบ้านพักพนักงานการท่าเรือ คือตั้งแต่ล็อก 1 ถึง ล็อก 12 …..

หลังจากรัฐบาลเริ่มจัดการกับสลัมย่อย ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยการไล่รื้อ ทำให้ชาวสลัมที่ถูกไล่รื้อพากันอพยพเข้ามายึดพื้นที่รอบ ๆ พื้นที่ใช้งานของการท่าเรือ และปลูกสร้างบ้านเรือนขึ้นมา ในประมาณปี 2510 จนถึง 2513 พื้นที่คลองเตยจึงกลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ และการท่าเรือก็เริ่มใช้วิธีรุนแรงในการผลักดันสลัมเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่ เริ่มจากสลัมรอบในที่อยู่ติดกับลานและโกดังสินค้าของการท่าเรือ โดนขับไล่ด้วยการนำเอาเลนที่เรือขุดดูดขึ้นมาจากสันดอน มาพ่นใส่พื้นที่ตั้งสลัม จนทำให้ชาวบ้านต้องรื้อย้ายบ้านเบียดรวมเข้าไปกับสลัมใหม่หลังบ้านพักพนักงานการท่าเรือ บางส่วนย้ายหนีลงไปสมทบกับสลัมรอบ ๆ ทำให้กลายเป็นสลัมขนาดใหญ่ขึ้น ในช่วงเวลานี้ ได้เกิดปัญหาเพลิงไหม้ชุมชนเป็นประจำทุกปี…

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2520 ในสมัยรัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงเริ่มผ่อนคลายความรุนแรงลง เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายในการประนีประนอมกับสลัมมากขึ้น และสลัมคลองเตย เป็นสลัมแห่งแรก ที่รัฐบาลทดลองนำโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามา เพื่อพัฒนาสลัมคลองเตยเป็นการนำร่องไปสู่การพัฒนาสลัมในที่ต่าง ๆทั่วประเทศไทย…..

สลัมคลองเตย จึงเป็นสลัมแม่บทในการพัฒนา และยกระดับแหล่งเสื่อมโทรมที่ผิดกฎหมาย ให้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสามารถอยู่ร่วมกับสังคมเมืองได้อย่างกลมกลืน…..

ปี 2521 มีการทดลองจัดตั้งผู้นำชุมชนขึ้น โดยการแยกสลัมออกเป็นส่วน ๆ ได้ทั้งหมด 18 สลัม และให้แต่ละสลัมมีคณะผู้นำของตัวเอง…..

มีการยกเลิกคำเรียกว่า “สลัม” ที่หมายถึงแหล่งเสื่อมโทรม ให้เรียกว่า “ชุมชนแออัด” แทน ดังนั้น คำว่าชุมชนนั้น ชุมชนนี้ ที่อยู่ในคลองเตย จึงมีความหมายที่มาจากคำว่าชุมชนแออัด โดยเรียกสั้น ๆ ว่า “ชุมชน” คำว่าชุมชนในคลองเตย จึงมีความหมายที่ไม่ตรงกับคำว่าชุมชน (Community) แต่มีความหมายที่ตรงกับคำว่า “Residente” อันหมายถึงหมู่บ้านธรรมดา ๆ เท่านั้น……

ภาพข้อมูล:ศูนย์กลางข้อมูลชุมชนคลองเตยเพื่อการเรียนรู้