ปี'67 นิคมฯบางชันเพิ่มพื้นที่สีเขียวเขตมีนบุรี/คันนายาว ลดฝุ่น ลดโลกร้อน

ปี'67 นิคมฯบางชันเพิ่มพื้นที่สีเขียวเขตมีนบุรี/คันนายาว ลดฝุ่น ลดโลกร้อน





ad1

นิคมฯบางชัน ร่วมกับผู้ประกอบการในนิคมฯ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด มอบต้นไม้ ให้เขตมีนบุรีเพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้เขตมีนบุรี และเสริมนโยบายผู้ว่า “ชัชชาติ” ผู้ว่า กทม. เพื่อให้ได้ร่มเงา สร้างกำแพงกรองฝุ่น PM 2.5 ลดโลกร้อน  ด้าน “ลัดดาวัลย์” ผอ.นิคมฯบางชัน เดินหน้าเพิ่มพื้นสีเขียวต่อเนื่อง ปี 67 เน้นร่วมมือสถานศึกษา เขตมีนบุรี เขตคันนายาว เพิ่มพื้นสีเขียวอีก กว่า 40 ไร่

ลัดดาวัลย์ อ่อนกำปัง ผู้อำนวยการ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน (สนช.)

นางลัดดาวัลย์ อ่อนกำปัง ผู้อำนวยการ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมบางชัน (สนช.) และนายเกียรติชัย  ภักดีรอด ผู้จัดการบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด หน่วยงานบางชัน ได้เปิดเผยว่า ในปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในการที่ป้องกันและแก้ไข  เพื่อให้สังคม และชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขและยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โดยรอบนิคมฯ ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่จำเป็นต้องต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ และช่วยให้คุณภาพอากาศส่วนรวมดียิ่งขึ้น

เกียรติชัย  ภักดีรอด ผู้จัดการบริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด หน่วยงานบางชัน

ในปี 2567 สนช. จึงได้จัดทำแผนเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายใต้ “โครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว นิคมอุตสาหกรรมบางชัน” ขึ้น   โดยมีวัตถุประสงค์  ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและบริเวณโดยรอบนิคมฯ  ในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร เพื่อสร้างความร่มรื่น ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5  โดยการปลูกต้นไม้เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ ทั้งภายในบริเวณนิคมฯ ภายนอกนิคมฯ  โดยจะร่วมมือกับสถานศึกษา วัด และหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่นิคมฯตั้งอยู่ ทั้งเขตมีนบุรี และเขตคันนายาว  โดยในเขตมีนบุรี สนช.และผู้ประกอบการในนิคมฯ อาทิ บริษัท อาร์ตอุตสาหกรรม จำกัด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นต้น จะร่วมกันส่งเสริมการปลูกต้นขนุนโครงการธนาคารต้นไม้ เขตมีนบุรี (Tree Bank Of Minbur) เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสร้างกำแพงกรองฝุ่นในพื้นที่เขตมีนบุรี ซึ่งคาดว่าจะได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20 ไร่ ส่วนความร่วมมือกับเขตคันนายาว สนช.จะทำการสนับสนุนต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้มงคล และเป็นต้นไม้พระราชทาน ประมาณ 1,000 ต้น คาดว่าใช้พื้นที่ปลูกประมาณ  30 ถึง 40 ไร่   

ศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

ในปี 2565-2566 ที่ผ่านมา สนช.ได้ร่วมกับโรงเรียนวัดบำเพ็ญเหนือ โรงเรียนสุเหร่าบางชัน โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ทำการปลูกต้นไม้ทั้งไม้ดอก ไม้ยืนต้นไปกว่า 25 ไร่ พร้อมกันนั้นในปี 2566 ทาง สนช. ยังได้ร่วมกับสำนักงานเขตมีนบุรี ได้มอบต้นกล้าพันธุ์ไม้ ต้นขนุน จำนวน 500 ต้น เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้ เขตมีนบุรี (Tree Bank Of Minbur) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงในพื้นที่เขตมีนบุรี โดยนำไปปลูกในพื้นที่กว่า 25 ไร่

นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยนายบรรลือ คล้ายปักษี หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ทำการรับมอบต้นไม้ใหญ่จาก สนช. และผู้ประกอบการในนิคมฯบางชัน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสนับสนุนโครงการธนาคารต้นไม้เขตมีนบุรี  และสร้างสวน 15 นาที ในพื้นที่เขตมีนบุรี โดย เขตฯ มีเป้าหมายสร้างสวน 15 นาที ให้ได้มากกว่า 3 แห่ง ภายในปีงบประมาณ 2567 นี้ ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการ หน่วยงาน องค์กรทุกแห่ง ที่ให้การสนับสนุนมา ณ โอกาสนี้

“เขตมีนบุรีได้ว่างเป้าหมายเอาไว้ ว่าเราจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารต้นไม้ ซึ่งเราได้จัดโครงการธนาคารต้นไม้ขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ตามนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ได้พื้นที่สีเขียวและร่มเงาในเมือง ได้กำแพงกรองฝุ่นจากต้นไม้ในพื้นที่ประชาชนหนาแน่น เพราะต้นไม้มีประโยชน์ในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นการลดมลพิษ (ลดมลพิษขนาดเล็ก (PM 2.5) ลดก๊าซพิษโอโซน ลดก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ลดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ มิติการเพิ่มร่มเงาเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองส่งเสริมให้เมืองเป็นเมืองที่เดินได้และตามนโยบาย สวน 15 นาที ทั่วกรุง เพื่อให้ได้พื้นที่สาธารณะที่ทำกิจกรรมได้กระจายตัวอยู่ทุกที่ และสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินภายใน 15 นาที เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน"

สำนักงานเขตมีนบุรี ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำแปลงเกษตร เพาะพันธุ์กล้าไม้ และปลูกผักสวนครัว สร้างศูนย์การเรียนรู้และธนาคารต้นไม้เขต เพื่อใช้สอยพื้นที่ว่างเปล่าริมทางให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพิ่มพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง โดยใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดเพาะชำกล้าไม้ ก่อนนำไปปลูกในพื้นที่ต่อไป