โรคใบร่วงสวนยางใต้ทำเม็ดเงินสูญหายปีละกว่าหมื่นล้านบาท

โรคใบร่วงสวนยางใต้ทำเม็ดเงินสูญหายปีละกว่าหมื่นล้านบาท





ad1

เจ้าของแปลงยางสงขลา ยืนยัน สายพันธุ์ RRIT 9304 สร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโรค และน้ำยางปริมาณเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว ชี้ที่ผ่านมาโรคใบร่วง ทำให้เม็ดเงินสูญหายปีละกว่า 10,000 ล้านบาท 

นายวิสิทธิ์ สถิตย์เกษตรศรี เจ้าของแปลงยางจิ้นพันธุ์ยาง ต.ปริก อ.สะเดา จ.สงขลา เปิดเผยว่า โรคยางใบร่วงเกิดขึ้นจากสปอร์มากับอากาศลงสัมผัสพื้นดินเมื่อพบกับความชื้นส่งผลให้ขยายตัวเติบโตเข้าทำลายรากเน่ายางยืนต้นตาย  และลุกลามไปต้นยางต้น/ต้น และยังขยายผลไปถึงพันธุ์กล้ายาง ถ้าถูกเชื้อก็จะขยายไปเป็นวงกว้างสำหรับยางโรคใบร่วง ผลผลิตน้ำยางสดจะหดหายไปครึ่งต่อครึ่ง

“มีการวิเคราะห์กันในวงการยางว่า หากไม่สามารถป้องได้   ภายในระยะ 10 ปี  ยางไทย อาจจะต้องมีการนำเข้า” นายวิสิทธิ์ กล่าว

สำหรับเรื่องการป้องกันโรคยางใบร่วง นายวิสิทธิ์  กล่าวว่า วิธีการป้องกันได้ดำเนินการมาร่วมกว่า 10 ปี และได้คัดเลือกสายพันธุ์ยางมาจากศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา และในที่สุดสามารถสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรคได้คือพันธุ์ RRIT 9304  ซึ่งได้รับการรับรองจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตั้งแต่การสร้างต้นกล้ายางให้แข็งแรง การสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโรค

โดยใช้จุลินทรีย์ ขึ้นมา 2 ตัว  โดยจุลินทรีย์สร้างรากให้แข็งแรง และจุลินทรีย์จะอยู่คงอยู่ในรากไปตลอด เพื่อสร้างภูมิต้านทานในการป้องกันโรค และจุลินทรีย์อีก 1 ตัว เข้าไปทำลายจุลินทรีย์ตัวไม่ดีเพื่อป้องกันโรคเช่นกัน

“เป็นการฉีดวัคซีนให้กับต้นยางในการสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานป้องกันโรค อีกทั้งยังได้ผลผลิตน้ำยางสดเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวด้วย”  นายวิสิทธิ์ กล่าว 

ดร.สมบัติ ชนะสิทธิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญภัยแล้งจากเอลนิโญ และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้ประสานงานไปยังสำนักงานการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดพัทลุง เพื่อให้ทางการสนับสนุนหันมาใช้ต้นกล้ายางที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานป้องกันโรค ซึ่งจะมีการก่อตั้งกลุ่มแปลงเพาะพันธุ์ต้นกล้ายาง เพื่อเพาะพันธุ์ต้นกล้าที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานและป้องกันโรคโดยการนำพันธุ์ยาง 9304  ที่สร้างภูมิคุ้มกันต้านทานป้องกันโรคมาเป็นต้นแบบ

“การพัฒนาสายพันธุ์และต้นกล้ายางทางภาคเอกชนมีการก้าวหน้าไปมาก ไม่ต่างกับประเทศอินโดนีเซีย ที่มีการพัฒนาก้าวหน้ามาก ซึ่งขณะนี้มียางพาราถึง 70 สายพันธุ์”  

ดร.สมบัติ เปิดเผยอีกว่า ได้สอบถามไปยังการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงการเกิดโรคยางใบร่วงโดยได้เกิดมาตั้งแต่ต้นปี 2559 มาจนถึงขณะนี้  และได้ระบาดรุนแรงมาประมาณ 5 ปีหลังประมาณปี 2562 และได้ระบาดไปทั้ง 14  จังหวัดภาคใต้ ภาพรวมประมาณ 2 ล้านไร่ในภาคใต้ และยังลุกลามไปจังหวัดภาคอื่น ๆ ในขณะนี้ 

“จำนวน 2 ล้านไร่ โดยยางให้ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 200 กก. / ปี / ไร่ จะเกิดมูลค่าการสูญเสียครึ่งต่อครึ่งประมาณ 100 ล้าน กก.  /  ปี  ถ้าคิดเป็นเงินในราคายางเวลานี้ประมาณ 65 บาท / กก. น้ำยางสด จะเป็นเงิน ประมาณ กว่า 10,000 ล้านบาท / ปีที่หายไป”.

โดย...อัสวิน  ภักฆวรรณ