กรมชลฯเปิดเวทีฟังความเห็นการศึกษาปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมากรมชลประทานจัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้ จังหวัดสระบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเผยแพร่ความเป็นมา แนวคิดการปรับปรุงโครงการเบื้องต้นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อนำไปประกอบการศึกษาในรายละเอียดให้มีความครบถ้วน สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อไป โดยเวลา 09.00 น. กลุ่มพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาคลองเพรียว-เสาไห้ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ณ หอประชุม ที่ว่าการ อ.หนองแค จ.สระบุรี
โดยมีนายบุญเลิศ เนตร์ขำ นายอำเภอหนองแค เป็นประธานการประชุม จากนั้นเวลา 13.30 น. กลุ่มพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ณ ห้องประชุม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักใต้ อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา มีนายวิชาญ น้อยโต นายอำเภอท่าเรือ เป็นประธานการประชุม โดยกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทาน สภาเกษตรกร ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ ภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุม รวมจำนวนกว่า 280 คน
เนื่องจาก ปี พ.ศ. 2560 กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาทบทวนความเหมาะสมโครงการปรับปรุงระบบชลประทานพื้นที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติให้ความเห็นชอบในหลักการเมื่อปี 2560 พบว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 3 โครงการฯ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน บางส่วนชำรุดเสียหาย ทำให้มีประสิทธิภาพการใช้งานลดลง แม้ว่าจะมีการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้บางส่วน
แต่ยังไม่สามารถปรับปรุงให้ได้ประสิทธิภาพดังเดิมทั้งโครงการ กรมชลประทานจึงมีแผนในการศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครหลวง ป่าสักใต้ และคลองเพรียว-เสาไห้ ในปี พ.ศ. 2567-2569 ครอบคลุมพื้นที่ 104 ตำบล 12 อำเภอ ของ จ.สระบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา รวมพื้นที่โครงการ 731,700 ไร่ พื้นที่ชลประทาน 525,900 ไร่
ซึ่งเมื่อวางแผนปรับปรุงโครงการให้มีความเหมาะสมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำและการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาขาดเเคลนน้ำ การนำน้ำจากแผนงานปรับปรุงในภาพรวมกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่โครงการอย่างเหมาะสม เพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค รวมไปถึงการบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน