'ไก่ชนพื้นเมือง'อนาคตรุ่ง -อินโดฯไฟเขียวนำเข้าจากไทย คาดสร้างรายได้กว่า 300ล./ปี

'ไก่ชนพื้นเมือง'อนาคตรุ่ง -อินโดฯไฟเขียวนำเข้าจากไทย คาดสร้างรายได้กว่า 300ล./ปี





Image
ad1

เกษตรฯ ส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตล็อตแรกไปอินโดนีเซีย เปิดประตูการค้าให้แก่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงของไทยหลังมีแนวโน้ม ไก่สายพันธุ์พื้นเมือง ไทยได้รับความนิยมด้านกีฬาและวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2568  นายอรรถกร ศิริลัทยากร รมว.เกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิต (Ayam Bangkok) ล็อตแรกไปยังประเทศอินโดนีเซีย ณ อาคารคลังสินค้า การบินไทย สนามบินสุวรรณภูมิ โดยมีผู้แทนจากภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมเป็นสักขีพยาน พิธีดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จในการเปิดตลาดส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตของไทยบินตรงไปสู่ประเทศอินโดนีเซีย ภายหลังจากที่อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้เดินทางไปพบ Dr. drh.Agung Suganda อธิบดีกรมปศุสัตว์และบริการสุขภาพสัตว์แห่งอินโดนีเซีย (DGLASH) ณ กระทรวงเกษตร กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา โดยได้ร่วมกันประชุมเจรจาหารือจนบรรลุข้อตกลงร่วมกับกรมปศุสัตว์และบริการสุขภาพสัตว์แห่งอินโดนีเซีย (DGLASH) ในการรับรองเอกสารสุขภาพสัตว์ (Veterinary Health Certificate: VHC)

นายสัตวแพทย์สมชวน  กล่าวว่า การส่งออกสัตว์ปีกมีชีวิต ครั้งนี้ถือเป็นการเปิดประตูการค้าให้แก่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงของไทย โดยเฉพาะไก่สายพันธุ์พื้นเมืองมีชีวิตที่มีความนิยมในตลาดของประเทศอินโดนีเซียทั้งด้านกีฬาและวัฒนธรรมซึ่งการส่งออกล็อตแรก บริษัท หนองจอก เอฟซีไอ จำกัด เป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนและอนุญาตให้นำเข้าไก่พื้นเมืองมีชีวิตเข้าสู่อินโดนีเซีย โดยการส่งออกล็อตแรกนี้ มีจำนวน 3 ตัว ซึ่งไก่แต่ละตัวมีมูลค่าสูงถึง 150,000 บาท รวมมูลค่า 450,000 บาท และคาดว่าจะมีการส่งออกต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 12,000 ตัว จะสร้างรายได้เข้าประเทศมากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการเปิดตลาดส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตไปยังประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นการส่งออก Soft Power ของไทย ผ่านสายพันธุ์สัตว์ท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ เป็นการสร้างรายได้ใหม่ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่พื้นเมือง และเป็นการผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืนและถือเป็นการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของประเทศไทย

ขณะที่นายปรีชา ตีรวัฒนานนท์ ประธานบริหารบริษัท หนองจอก เอฟซีไอ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การส่งออกไก่พื้นเมืองมีชีวิตในวันนี้ ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการยกระดับสินค้าปศุสัตว์มูลค่าสูงของเกษตรกรไทยสู่ตลาดสากล ในอนาคตจะเป็นการกระจายสินค้าปศุสัตว์มูลค่าสูงสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมทั้งกล่าวขอบคุณกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ที่ได้ทุ่มเทผลักดันการส่งออกนี้มานานกว่า 10 ปี ตั้งแต่การพัฒนาการเลี้ยงไก่พื้นเมืองทั้งระบบของเกษตรกรไทย การควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ไปจนถึงการประสานงานด้านเอกสาร และการเจรจาของภาครัฐทั้งสองประเทศ แสดงให้เห็นถึงการร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและเอกชนที่นำมาซึ่งความสำเร็จในวันนี้

จากข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ระบุว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังอินโดนีเซียมูลค่ารวม 4,600 ล้านบาท โดยสินค้าเด่น ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์นม การเพิ่ม “ไก่พื้นเมืองมีชีวิต” เข้าไปในกลุ่มสินค้าส่งออกจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในการขยายตลาดของไทย