"ธนกร" เผย "นายกฯ" เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM 2.5 กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง

"ธนกร" เผย "นายกฯ" เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM 2.5

"ธนกร" เผย "นายกฯ" เดินหน้าแก้ไขปัญหา PM 2.5 กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้  ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง





ad1

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นย้ำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั่วทั้งประเทศ

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีห่วงใยผลกระทบที่อาจส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ และสุขภาพของประชาชน ซึ่งเกิดจากปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ โดยได้กำชับให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งจากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษพบว่า นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – 23 มีนาคม 2565 ได้มีการตรวจสอบตรวจวัดควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ และปรับปรุงค่ามาตรฐานควันดำโดยเพิ่มความเข้มงวดและประสิทธิภาพการแก้ปัญหา PM 2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทรถยนต์ โดยปรับมาตรฐานค่าควันดำของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยการอัด พ.ศ. 2564 ซึ่งกำหนดค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 30 จากเดิมไม่เกินร้อยละ 45 และค่ากระดาษกรองไม่เกินร้อยละ 40 จากเดิมไม่เกิน ร้อยละ 50 หากตรวจพบค่าควันดำเกินกำหนดจะลงโทษเปรียบเทียบปรับสถานหนัก 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถทันที ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 13 เมษายนนี้

สำหรับปัญหามลพิษอากาศจากหมอกควันและไฟป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินโครงการ “ชิงเก็บ ลดเผา” ซึ่งในปี 2564 สามารถดำเนินการเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 2,800 ตัน จากเป้าหมาย 1,000 ตัน ครอบคลุมพื้นที่ 400,000 ไร่ ทำให้จำนวนจุดความร้อนในพื้นที่ลดลงร้อยละ 60 และในปี 2565 มีการดำเนินงานต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถเก็บขนเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่ามาใช้ประโยชน์ได้ 1,310 ตัน จากเป้าหมาย 3,000 ตัน และคาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ตามเป้าหมาย ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ปรับแนวคิดและระบบในการทำงานแบบใหม่ สร้างการรับรู้และความเข้าใจกับชุมชน พร้อมทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน

รายงานของกรมควบคุมมลพิษยังพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 26 วัน ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 67 วัน และในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 38 วัน ลดลงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนวันที่ฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 69 วัน นอกจากนี้ ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 มีนาคม 2565 จำนวนจุดความร้อนในภาพรวมของประเทศไทย เหลือ 31,082 จุด ลดลงร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 79,441 จุด 

“รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติหน้าที่ในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยออกมาตรการที่มีประสิทธิภาพและให้ประชาชนภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ที่เคยมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินกำหนด และประสบปัญหาหมอกควัน ได้รับผลกระทบลดลง ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะดำเนินการต่อไป เพื่อให้จะเห็นผลที่เด่นชัดเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกคน รวมทั้งประชาชนที่มีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่นละออง ซึ่งหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันสานต่อการดำเนินการ เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป” นายธนกรฯ กล่าว