"หมอธีระ" ตีระฆังเตือน สายพันธุ์ย่อยใหม่ ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน

"หมอธีระ" ตีระฆังเตือน สายพันธุ์ย่อยใหม่ ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน

"หมอธีระ" ตีระฆังเตือน สายพันธุ์ย่อยใหม่ ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน





ad1

29 พ.ย. 2565  นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ยกผลการวิจัย จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.และ XBB ดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนโควิด-19 และการที่เคยติดเชื้อมาก่อน มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้อย่างมาก  

อ่านรายละเอียดจาก นพ.ธีระ ดังนี้

ตีระฆังเตือนยืนยันเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกัน
ทีมงานของ David Ho จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยใน bioRxiv เมื่อวานนี้ 28 พฤศจิกายน 2565
ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.x และ XBB นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีน และการที่เคยติดเชื้อมาก่อน มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดมาก่อนหน้านี้อย่างมาก
แม้ข้อมูลทางคลินิกในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะทำให้ป่วยรุนแรงมากขึ้นกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดเดิม
แต่สมรรถนะการดื้อต่อภูมิคุ้มกันที่มากขึ้นนั้น ย่อมส่งผลทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นหรือแพร่กันได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ประการนี้เอง ที่เป็นตัวตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันตัวระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องการใส่หน้ากาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เลี่ยงสถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี รักษาความสะอาด และเว้นระยะห่างจากคนอื่น
Personal protective behaviors เป็นเกราะป้องกันที่สำคัญที่สุด
...ทางเดินประวัติศาสตร์การแพร่ของแต่ละสายพันธุ์
โควิด-19 แพร่ระบาดมาหลายปี โดยมีสายพันธุ์ที่หลากหลาย
หากเปรียบเทียบกันตัวต่อตัว จะพบว่า ในระยะเวลา 100 วันแรกของการระบาด สายพันธุ์ Omicron นั้นแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้มากกว่าสายพันธุ์อื่นที่ระบาดมาก่อน ถึง 5 เท่า
แต่ละระลอกที่ผ่านมา ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม (Wuhan: Wild type), เบต้า, แกมม่า, อัลฟ่า, เดลต้า, และ Omicron นั้น ก็มีลักษณะของทวีปที่มีการระบาดหนักก่อนกระจายไปยังทวีปอื่นๆ ที่แตกต่างกันไป
...สำหรับระลอกอนาคตนั้น ลักษณะการระบาดน่าจะมีแนวโน้มแตกต่างไปจากอดีต เพราะมีปัจจัยเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศเกิดขึ้นมาก การระบาดจะเป็นลักษณะหลากหลายสายพันธุ์ แปรผันกับการนำเข้าส่งออก รวมถึงสมรรถนะของไวรัสแต่ละสายพันธุ์ พฤติกรรมการป้องกันตัวและการใช้ชีวิตของประชากร ชนิดและความครอบคลุมของวัคซีนที่ใช้ และอื่นๆ
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งในแง่จำนวนการติดเชื้อ การป่วย การตาย และ Long COVID นั้น จึงมีโอกาสสูงที่จะแปรผันกับนโยบายควบคุมป้องกันโรค และความพร้อม"จริง"ของระบบสาธารณสุขของประเทศนั้น ทั้งเรื่องยาที่ได้มาตรฐาน วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ บริการดูแลต่างๆ ว่าประชาชนในประเทศจะเข้าถึง และพึ่งพาได้หรือไม่ ยามที่เกิดปัญหา
ผลลัพธ์ที่พึงปรารถนาของทุกสังคมคือ ยามวิกฤติ ประชาชนสามารถพึ่งพาและได้รับความช่วยเหลือดูแลอย่างทันท่วงที มีประสิทธิภาพ โดยทั่วถึงกัน
ไม่ต้องเผชิญกับภาวะสิ้นหวัง รอคอย จนต้องดิ้นรนทุบกระปุกขวนขวายหาทางรอดกันเอาเองแบบอัตตาหิ อัตตโน นาโถ
...สถานการณ์ปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาทในการดำรงชีวิต
ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ทั้งช่วงทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว
ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด
ใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. Wang Q et al. Alarming antibody evasion properties of rising SARS-CoV-2 BQ and XBB subvariants. bioRxiv. 28 November 2022.
2. Tegally H et al. Global Expansion of SARS-CoV-2 Variants of Concern: Dispersal Patterns and Influence of Air Travel. medRxiv. 27 November 2022.