‘เซฟบางกลอย’ จัดคาร์ม็อบ บุกสาดสีหน้าป้ายกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมยก 5 เหตุผล ไล่รัฐมนตรีลูกท้อป เหตุเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้าน

‘เซฟบางกลอย’

‘เซฟบางกลอย’ จัดคาร์ม็อบ บุกสาดสีหน้าป้ายกระทรวงทรัพย์ฯ พร้อมยก 5 เหตุผล ไล่รัฐมนตรีลูกท้อป เหตุเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้าน





ad1

วันนี้ (30 ม.ค.) ที่หน้าโรงเรียนราชวิถีมัธยม กลุ่มภาคีเซฟบางกลอย นำโดย นายพชร คำชำนาญ ประมาณ 30 คนจัดขบวนคาร์ม็อบเพื่อเดินทางไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซอยพหลโยธิน 7 เพื่อทำกิจกรรมยืนหยัดข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ของชาวบ้านบางกลอย ที่เคลื่อนไหว เมื่อปี 2564 หลังจากผ่านมาแล้ว 1 ปี ทางรัฐบาลยังไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในเวลา 13.00 น. ขบวนุ้ชุมนุมมีการนั่งรถกระบะพร้อมรถเครื่องเสียงและติดสติกเกอร์เซฟบางกลอย เพื่อทางทางออกไปยังจุดหมาย
.


เมื่อผู้ชุมนุมเดินทางถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนายพัชระคำชำนาญได้จัดกิจกรรมปราศรัยและยกประเด็นในเรื่องของห้าเหตุผลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมนายวราวุธศิลปอาชาไม่สมควรแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านบางกลอย ได้แก่ 1. ไม่เคยมาพบหรือรับฟังปัญหาด้วยตนเอง 2. ฟังแต่ข้อมูลจากราชการ 3.กล่าวหาว่าปัญหาบางกลอยไม่ใช่เรื่องสิทธิมนุษยชนและประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง 4.มีส่วนเกี่ยวข้องในการจับกุมชาวบ้านบางกลอย และละเมิด MOU 5. ผลักดันมรดกโลกกชุ่มป่าแก่งกระจานท่ามกลางกระแสคัดค้านเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
ต่อมาทางกลุ่มได้อ่านแถลงการณ์หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและได้ทำการกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์คือการสาดสีใส่ป้ายหน้ากระทรวง โดยข้อคงามในแถลงการณ์ระบุว่า “ในยุคทรราชย์ครองเมือง หลังประยุทธ์ จันทร์โอชา ในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ความเดือดร้อนอันเกิดแก่ประชาชนทวีความรุนแรงขึ้นทุกหย่อมหญ้า ไม่เว้นแม้แต่พวกเราที่ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขอยู่ในผืนป่า อันเป็นดินแดนที่บรรพชนก่นสร้าง ตั้งถิ่นฐาน ใช้ประโยชน์ สืบทอดผืนดินผืนป่านั้นให้เป็นมรดกสู่พวกเราลูกหลาน

วันนี้เมื่อ 7 ปีแล้ว รัฐบาลเผด็จการอ้างอำนาจการเป็นรัฐาธิปัตย์ ออกคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทรัพยากรป่าไม้ หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” กล่าวอ้างว่าจะทวงคืนผืนป่าจากนายทุน เพื่อผลประโยชน์แก่ประชาชนทั้งประเทศ รวมทั้งได้มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรฯ ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ หรือประมาณ 128 ล้านไร่ พี่น้องคนในเมืองบางส่วนอาจคิดว่านี่คือนโยบายที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พวกเราอยากจะบอกทุกคนว่า เราเผชิญความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เป็นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งไม่พึงจะได้รับ ประหนึ่งสูญสิ้นความเป็นคน
นโยบายที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวนำมาซึ่งปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน อันปรากฏภาพการถูกยึดพื้นที่ทำกินและการถูกดำเนินคดีที่ยังคงเป็นข้อพิพาทในพื้นที่จนคาบเกี่ยวมาถึงช่วงของการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎหมายด้านการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในยุคปัจจุบัน ในช่วงเวลาเพียง 6 ปีหลังมีคำสั่ง คสช. ฉบับนี้ มีคดีความเพิ่มขึ้นถึง 46,600 คดี อยากชวนพวกเราตั้งคำถามกันสักนิด ว่าในกว่า 4 หมื่นคดีนั้น มีนายทุนและนักการเมืองอยู่ซักกี่คน เพราะเท่าที่เห็นก็มีแต่พวกเราคนจน พี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่ป่าทั้งนั้นที่ต้องสูญเสียที่ดินและตายทั้งเป็น

นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การบริหารงานของวราวุธ ศิลปอาชา ก็ยังคงเดินหน้าสร้างปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชน ด้วยการมีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้ใหม่อีก 3 ฉบับ ทั้งพระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่แม้จะเป็นกฎหมายฉบับใหม่ แต่แนวคิดยังคงหลงยุค ในขณะที่กระแสสังคมโลกให้ความสำคัญกับการให้สิทธิคนอยู่กับป่า หน่วยงานอนุรักษ์ไทยกลับเดินถอยหลังลงคลอง ยังคงใช้แนวคิดแบบจักรวรรดินิยมล่าอาณานิคมคนอยู่ในป่า ประกาศเขตป่าทับเพื่อรวมศูนย์อำนาจการปกครอง ผลักดันให้ประชาชนในป่าต้องกลายเป็นผู้บุกรุกภายใต้กฎหมาย แล้วหยาดหยดความเมตตาผ่านคำว่า “อนุญาตให้ทำกิน” คำถามคือ คุณมีสิทธิอะไรมาอนุญาตให้เราอยู่หรือไม่อยู่ ในเมื่อผืนดินผืนป่านั้นเราอยู่มาก่อน
เราขอพูดในนามประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อคนอยู่กับป่า ทั้งรัฐบาลทหารและแนวคิดการจัดการทรัพยากรภายใต้กระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ได้ผสมพันธุ์กันอย่างแนบแน่น กลายเป็นนโยบายการรุกไล่ ผลักไสให้คนในป่ากลายเป็นอื่น วันนี้จะเป็นหมุดหมายที่เราจะส่งสารไปถึงพวกท่าน ว่าพี่น้องเราไม่ใช่ผู้บุกรุก นโยบายและกฎหมายของพวกท่านต่างหากที่รุกไล่เรา และเราจะไม่ทน

ในนามภาคี Saveบางกลอย การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ พวกเราขอยืนยันจุดยืน 4 ข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. ตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
2. ยุติคดีชาวบางกลอย 30 คน และภาคี Saveบางกลอย 10 คน
3. แก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และกฎหมายลำดับรอง ที่ผ่านในยุค สนช. เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิชุมชนคนในป่า
4. รับรองและผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับภาคประชาชน