ตรึงราคาไม่ไหว มะนาวปรับราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 160 บาท ขณะที่ราคาไข่ไก่ขึ้นราคาตาม

มะนาวราคาพุ่ง

ตรึงราคาไม่ไหว มะนาวปรับราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 160 บาท ขณะที่ราคาไข่ไก่ขึ้นราคาตาม





ad1

วันนี้ 3 เม.ย.65 ที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในตัวอำเภอเบตง จังหวัดยะลา วันนี้แม่ค้าขายผักสดบอกว่าพืชผักหลายชนิดมีการปรับขึ้นราคาขึ้นอีกหลายรายการ โดยเฉพาะมะนาวที่มีการปรับราคาขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 80 บาท แต่มีการปรับขึ้นทุกวันจนมาวันนี้ตกกิโลกรัมละ 160 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงมาก 

โดยแม่ค้าบอกว่า ในช่วงฤดูร้อน และเกิดภาวะแล้งรวมทั้งค่าขนส่งที่ปรับราคาขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นด้วย ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเริ่มเป็นช่วงที่มะนาวเริ่มขาดตลาด มะนาวเริ่มหายาก ทำให้เกษตรกรส่งผลผลิตมาขายได้น้อยลง และส่งผลให้มะนาวมีการปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นแบบนี้ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง แม่ค้าบอกอีกว่า วันนี้มะนาวแป้นกิโลกรัมละ 160 บาท ตอนนี้มะนาวที่ส่งมาก็ลูกไม่ใหญ่และคิดว่าราคาคงปรับราคาขึ้นอีก สาเหตุที่มีราคาแพงมาจากค่าขนส่งเพราะผักที่อำเภอเบตงส่วนใหญ่สั่งมาจากภาคกลาง ราชบุรี เพชรบุรี รับต่อมาจากพ่อค้าคนกลางอีกครั้งหนึ่ง 

ส่วนพฤติกรรมของลูกค้าจากเดิมที่ซื้อครั้งละมากๆ ก็เปลี่ยนมาซื้อน้อยลง ซื้อแต่พอดี และอาศัยซื้อบ่อย ๆ แทน ส่วนผักชีที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตง ขายในราคากิโลกรัมละ 120-130 บาท เช่นเดียวกับผักชนิดอื่นๆ ที่ปรับราคาขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นผักสดชนิดต่างๆ สาเหตุมาจากต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้ราคาผักส่วนใหญ่ก็จึงมีการปรับขึ้นราคาขึ้นมาดังกล่าว 

ส่วนไข่ไก่ ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ ได้ตกลงกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ให้ตรึงราคาหน้าฟาร์มไว้ไม่ให้เกิน 3 บาท หลังจากที่มีความพยายามจะขึ้นราคามาแล้วครั้งหนึ่ง ในวันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา จาก 2 บาท 80 สตางค์ เป็น 3 บาท อย่างไรก็ตามตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงไก่ไข่ บอกว่า ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ราคาไข่ไก่ เบอร์ 1แผงละ 132 บาทตกลูกละ 4.04 ส.ต. เบอร์ 2 แผงละ 126 บาทตกลูกละ 4.20 ส.ต. เบอร์ 3 แผงละ 125 บาทตกลูกละ 4.10 ส.ต. ซึ่งไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกจึงต้องราคาขึ้นตามกลไกตลาด เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ ที่ปัจจุบันยังถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน จนมากระทบต่อวัตถุดิบที่กำลังจะขาดตลาด ซึ่งจะทำให้ราคาอาหารสัตว์สูงขึ้นตาม ส่วนการแก้ปัญหารัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการแก้ไข ด้วยการนำเข้าอาหารสัตว์จากต่างประเทศเพิ่มเติม และนำเข้าข้าวโพดเป็นการชั่วคราว ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง อกทั้ง รัฐบาลต้องยกเลิกมาตรการบังคับด้วยการตรึงราคา ที่ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับภาวะขาดทุน