อสส.เซ็นตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี “ตู้ห่าว” เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

“ตู้ห่าว” องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

อสส.เซ็นตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี “ตู้ห่าว” เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ





ad1

15  ธ.ค. 2565 นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้ (14 ธ.ค.65) น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด (อสส.) ได้ลงนามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ โดยตั้งคณะทำงานพิจารณาคดี “ตู้ห่าว” เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ค้ายาเสพติด เป็นผู้มีอิทธิพล กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ให้รอง อสส. เป็นหัวหน้าคณะทำงานกำกับดูเเลคดี ให้ ผบ.ตร.เป็นที่ปรึกษา มีเนื้อหาสาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า

ด้วยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินคดีอาญากับ นายชัยณัฐร์ หรือ ตู้ห่าว กรณ์ชายานันท์ นักธุรกิจชาวจีน กับพวก ผู้ต้องหา ในสำนวนคดีอาญา ที่ 794/2565 และ ที่ 824/2565 ของ สน.ยานนาวา ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาอี, เฮโรอีน) อันเป็นการมีไว้จำหน่ายเพื่อการค้า อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป, ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภท 2 อันเป็นการมีไว้จำหน่ายเพื่อการค้า อันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป, สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด, ร่วมกันเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต และยินยอมหรือปล่อยปละให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายในสถานบริการ และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการตรวจยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวนมาก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 12 และข้อตกลงการปฏิบัติหน้าที่ในคดีระหว่างหน่วยงานของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคณะทำงานและมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ ดังนี้

โดยคณะทํางานดังกล่าวประกอบด้วย

  1. อัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคณะทํางาน
  2. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน
  3. นายสมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทํางาน
  4. ร.ต.ท.อุทัย อาทิเวช รองอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน
  5. นายศุภชัย นิพิธกุล ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน
  6. เลขานุการอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน
  7. อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน
  8. ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นคณะทำงาน
  9. อธิบดีอัยการ สํานักงานการสอบสวน เป็นคณะทำงานและเลขานุการ

โดยมีอำนาจหน้าที่

  1. กำกับและติดตามการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนในคดีนี้ให้เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ
  2. เร่งรัดการสอบสวนและการส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้ทันภายในกรอบระยะเวลาในการควบคุมฝากขังผู้ต้องหาตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้มีระยะเวลาพอสมควรเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งคดี
  3. แต่งตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

โดยให้เลขานุการคณะทำงานรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้อัยการสูงสุดทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 14 ธ.ค.65

สำหรับหนังสือคำสั่งดังกล่าวมาจากกรณีที่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ได้มีหนังสือ รายงานข้อมูลผู้ต้องหากระทำผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ถึงอัยการสูงสุด พร้อมเเนบ 1. สำเนาบันทึกการตรวจค้น-จับกุม เอกสาร 57 แผ่น 2. รายงานการสืบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล เอกสาร 141 แผ่น 3. การสืบค้นข้อมูลการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักร เอกสาร 26 แผ่น 4. แผ่น QR CODE รับชำระเงิน จำนวน 1 แผ่น 5. เอกสารสรุปการแจ้งข้อกล่าวหา จํานวน 1 แผ่น

โดยเอกสารระบุพฤติการณ์ผู้ต้องหาว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร (ชักชวนลูกค้าต่างชาติ) อันถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นคณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกันกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงินและทรัพย์สิน โดยกระทำผิดในเขตแดนมากกว่าหนึ่งรัฐ เป็นองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย แต่มีการตระเตรียม วางแผน สั่งการ สนับสนุน หรือควบคุมการกระทำผิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีส่วนร่วมกระทำการใดๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พบการกระทำความผิดบางส่วนในราชอาณาจักรไทย และบางส่วนนอกราชอาณาจักรไทย (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศกัมพูชา) เข้าเงื่อนไขความผิดตามกฎหมายที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 20 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนได้

อนึ่ง เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญและมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย จึงขอให้พนักงานสืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจในการสอบสวนคดีไปพลางก่อนตามกฎหมายต่อไป จึงเรียนมายังอัยการสูงสุดเพื่อโปรดพิจารณา หรือเห็นควรประการใดขอได้โปรดพิจารณาสั่งการ