กรมทางหลวงชนบทก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงคาดแล้วเสร็จมิ.ย.นี้

กรมทางหลวงชนบทก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงคาดแล้วเสร็จมิ.ย.นี้





ad1

ตาก-กรมทางหลวงชนบท เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม สนับสนุนการเดินทางและการขนส่งภายในจังหวัด ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง จ.ตาก คืบหน้าเกินครึ่ง คาดแล้วเสร็จมิถุนายน 2565 มุ่งยกระดับมาตรฐานงานทางและสะพานในโครงข่าย ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายธงไชย ชมถนอม ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบท(ทช.)ตาก กล่าวว่า กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการเชื่อมระบบคมนาคม  โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ตำบลวังหิน, หนองบัวใต้ อ.เมือง จ.ตาก เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมและการขนส่งภายในจังหวัด ลดระยะเวลาการเดินทางระหว่างชุมชน ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการยกระดับมาตรฐานงานทางและสะพานในโครงข่ายเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพความสะดวกปลอดภัย พร้อมรองรับการขยายตัวของเมืองในอนาคต

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดตาก พบว่าประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงส่วนใหญ่ประกอบวิสาหกิจชุมชนและทำเกษตรกรรม ในแต่ละวันจึงมีจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนในการขนส่งสินค้าและพืชผลทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ประกอบกับสะพานข้ามแม่น้ำแต่ละแห่งตั้งอยู่ห่างกัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความไม่สะดวกและต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางระหว่างสองฝั่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ตำบลวังหิน, หนองบัวใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก 

โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณหมู่ 5 บ้านวังหิน ตำบลวังหิน และสิ้นสุดโครงการบริเวณหมู่ 1 บ้านหนองปรือ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมือง จังหวัดตาก ซึ่งก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 390 เมตร ความกว้าง 8 เมตร และทางเท้าข้างละ 1.50 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กต่อเชื่อมทั้งสองฝั่งของสะพาน โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 77,369,000 บาท (เจ็ดสิบเจ็ดล้านสามแสนหกหมื่นเก้าพันบาท) ปัจจุบันมีความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 68 อยู่ในระหว่างการก่อสร้างานพื้นสะพานช่วงที่ 3 และช่วงที่ 4 จากส่วนที่เหลือทั้งหมด 7 ช่วงพื้นสะพาน งานราวสะพาน และงานก่อสร้างถนนต่อเชื่อมสะพาน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2565 

เมื่อโครงการดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายเส้นทางระหว่างตำบลและหมู่บ้าน ช่วยให้ประชาชนสามารถเดินทางและขนส่งพืชผลทางการเกษตรไปยังพื้นที่ระหว่างสองฝั่งแม่น้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนสามารถรองรับปริมาณการจราจรที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองสู่ชุมชนในอนาคต