ดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศรับต่างชาติ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศรับต่างชาติ





ad1

สงขลา-ดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้เดือนพฤษภาคม 2565 “ประชาชนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น”หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคม เดือนเมษายน 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมเดือนพฤษภาคม 2565 (41.60) ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2565 (41.30) และเดือนกุมภาพันธ์ (40.80) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภค ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ปัจจัยบวกที่สำคัญสถานการณ์โควิด -19 มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำกว่า 5,000 คน ผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง และหายจากโรคได้เอง โดยไม่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล 

ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในการกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการผ่อนคลายโควิด – 19 ลดเงื่อนไขที่จำกัดการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 

เช่น การผ่อนคลายเงื่อนไขการท่องเที่ยว สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 โดยกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบไม่ต้องตรวจ RT-PCR และการปรับลดวงเงินประกันภัยสำหรับชาวต่างชาติทุกกลุ่มเหลือ 10,000 เหรียญสหรัฐ จากเดิม 20,000 เหรียญสหรัฐ รวมถึงการเปิดจุดผ่านแดนถาวร 31 ด่าน ใน 17 จังหวัด เพื่อเปิดรับการเดินทางท่องเที่ยวทางบก 

ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว โดยทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น 

อย่างไรก็ตามความกังวลเรื่องค่าครองชีพจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างมากเกี่ยวกับราคาอาหารและเครื่องดื่มพลังงาน และราคาสาธารณูปโภค หลังภาครัฐยกเลิกการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท / ลิตร ซึ่งเริ่มทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได 

ในขณะที่มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐทั้งในส่วนของการเยียวยา หรือมาตรการเงินอุดหนุนและการช่วยเหลือเริ่มทยอยหมดลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบาง 

อีกทั้งงบประมาณของประเทศเหลือน้อย และอาจไม่เพียงพอต่อการช่วยเหลือหากเกิดเหตุฉุกเฉินใด ๆ ขึ้นมาอีก 

จากการสัมภาษณ์ประชาชนภาคใต้หลายสาขาอาชีพ เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้น แนวทางการแก้ไข และความคิดเห็นต่อมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ รวมถึงข้อเสนอแนะ 

1. ประชาชนกังวลกับค่าครองชีพที่ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคและพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้มที่ทยอยปรับตัวสูงขึ้น การใช้จ่ายจำเป็นต้องรัดกุมและใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นหรือใช้สินค้าทดแทนที่ราคาถูกลง ภาครัฐควรเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองราคาสินค้าและบริการที่จำเป็น รวมถึงลดภาระค่าครองชีพให้ต่ำลง 

2. ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องราคาปุ๋ยเคมี ยาและอาหารสัตว์ เป็นต้น โดยต้นทุนเหล่านี้สูงขึ้นมากส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลง อีกทั้งความเสี่ยงของราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน และสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ 

ทั้งนี้ภาครัฐควรหามาตรการช่วยเหลือภาคเกษตร โดยเฉพาะการช่วยลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร 

3. ประชาชนกังวลในสถานการณ์โควิด – 19 หลังจากมีมาตรการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องให้เปิดดำเนินการธุรกิจในหลากหลายกลุ่ม การท่องเที่ยว การจัดงานสังสรรค์ รวมทั้งผับ บาร์ และสถานบันเทิงทั้ งนี้ภาครัฐควรมีมาตรการป้องกันและดูแลโควิด – 19 ที่มีประสิทธิภาพ และนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้กลับมาแพร่ระบาดมากอีก 

ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่าส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.40 และ 41.60 ตามลำดับ 

ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 37.50 และ 34.50 ตามลำดับ 

ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 36.80 36.50 และ 38.60 ตามลำดับ 

ปัจจัยที่ส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 53.90 รองลงมา คือภาระหนี้สินและการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็นร้อยละ 27.80 และ 12.10 ตามลำดับ 

ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนส่วนใหญ่มองว่ารัฐบาลควรรีบดำเนินการและให้ความช่วยเหลือ อันดับแรกคือการแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง รองลงมาการแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง การดูแลและช่วยเหลือภาคการเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ตามลำดับ.