‘กรมชลฯ’ ลุยแก้ปัญหาน้ำภาคกลางตอนล่างวางงบกว่าหมื่นล. อัพไซส์ 3 คลองระบายน้ำหลัก

‘กรมชลฯ’ ลุยแก้ปัญหาน้ำภาคกลางตอนล่างวางงบกว่าหมื่นล. อัพไซส์ 3 คลองระบายน้ำหลัก





ad1

“กรมชลประทาน” เดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง ซ้ำซาก ในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ผลักดัน “โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี” พัฒนา 3 คลองระบายน้ำในพื้นที่ D1, D9 และ D18 วางงบกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาน้ำให้ความสำคัญประชาชนในพื้นที่ และสิ่งแวดล้อม

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยในการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน “โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี” ว่า จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อเกิดฝนตกหนักเกิน 230 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง จะเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีประสบอุทกภัยเป็นประจำทุกปี โดยโครงการฯ ดังกล่าว จะเข้ามาช่วยแก้ไข และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เขต อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.ชะอำ อ.เมืองเพชรบุรี อ.เขาย้อย และอ.บ้านแหลม ซึ่งตามแผนการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมของกรมชลประทาน จะใช้รอบปีการเกิดซ้ำของน้ำหลากที่ 25 ปี เท่ากับ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังนี้

          1)        ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

          2)        การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

          3)        ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว)

          4)        ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

อย่างไรก็ดี การออกแบบเชิงหลักการคลองระบายน้ำ D1, D9 และ D18 เพื่อพัฒนาให้ทั้ง 3 คลอง มีขนาดที่กว่างและลึกยิ่งขึ้น เพื่อให้การระบายน้ำทำได้เร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อีกด้วย

สำหรับการประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการเชิงหลักการคือ คลองระบายน้ำ D1 ประมาณ 12,434 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำ ปีละประมาณ 9.0 ล้านบาท โดยมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คลองระบายน้ำ D1 ในระยะก่อสร้างที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 10 ประเด็น คือ ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรดิน สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน การคมนาคมขนส่งทางบก เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 1 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) คือ เศรษฐกิจ–สังคม

ในส่วนของคลองระบายน้ำ D9 ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 718 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านใต้ ปีละประมาณ 7.2 ล้านบาท และค่าขุดลอกรักษาพื้นที่จอดเรือปากคลองด้านเหนือ ปีละประมาณ 5.76 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 12.96 ล้านบาทต่อปี โดยส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างด้านท้ายของ คลอง D9 มีผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 7 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน และเศรษฐกิจ–สังคม ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ เศรษฐกิจ–สังคม และด้านสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว

ด้านคลองระบายน้ำ D18 ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 1,053 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านเหนือ ปีละประมาณ 20 ล้านบาท และค่าขุดลอกตะกอนตลอดแนวคลองปีละ 8.5 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 20.85 ล้านบาทต่อปี มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างมีบางส่วนที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 8 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเล แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน การคมนาคมขนส่งทางบก เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ การคมนาคมขนส่งทางน้ำ และเศรษฐกิจ–สังคม