คนนาดีผวาหนัก!โขลงช้างป่าทับลานยกโขยงทำลายพืชสวนเสียหายหนัก


ปราจีนบุรี –ชาวบ้านผวา!โขลงช้างป่าทับลานยกพลเดินผ่านหน้าบ้านกลับป่ากลางดึกพบดงกล้วยต้นมะพร้าวถูกโค่นจนราบและกินยอด ขณะอุทยานแห่งชาติทับลานได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และโดรน 4 ลำ เพื่อปฏิบัติการผลักดันช้างป่าจำนวน 32 ตัวที่ออกมาหากินในพื้นที่ชุมชนกลับคืนสู่ป่าอย่างต่อเนื่องพบอุปสรรคคือฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้ปฏิบัติการไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 12.05 น.วันนี้ 11 ก.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรีพบในไลน์กลุ่มครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า โดยผู้ใช้ชื่อนายสุริยะ หรือผู้ใหญ่แพ็ท ได้โพสต์ภาพ และคลิปพืชผลการเกษตรชาวบ้าน หมู่บ้านวังอ้ายป่อง หมู่ 3ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นป่ากล้วย และต้นมะพร้าวถูกโขลงช้างป่าโค่นจนราบและกินยอด พร้อมคลิปภาพขณะโขลงช้างป่าจากอุทยานแห่งชาติทับลานไม่ทราบจำนวนเดินผ่านหน้าบ้านกลางดึก ช่วงที่ตากับหลานได้ยินเสียงร้องออกมาดูถึงกับผวาตะลึงตกใจ
ภาพที่เห็นฝูงช้างป่าตัวใหญ่ไม่ทราบจำนวน บางตัวสูง 2 เมตรกว่าท่วมหลังคาบ้าน จึงส่งเสียงตะโกนไล่ฝูงช้างป่าให้ออกจากบ้าน และถ่ายคลิปช้างป่าโขลงดังกล่าวไว้ได้ และรีบปิดประตูบ้านหนีด้วยความกลัว กระทั่งรุ่งเช้าตื่นออกมาพบเห็นบริเวณหน้าบ้านพบร่องรอยโขลงช้างป่าไม่ทราบจำนวนว่ามีกี่ตัว เดินเหยียบย่ำกัดกินกล้วย , มัน 5 นาที ที่ปลูกไว้หน้าบ้านจนหมด มีรอยเท้าช้างป่าทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เหยียบย่ำเป็นทางยาว
ละมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วจากอุทยานแห่งชาติทับลานเข้ามาตรวจสอบ คาดว่าฝูงช้างป่าโขลงนี้เป็นโขลงแม่แปรกเดียวกันที่เข้ามาหากินอยู่ในพื้นที่กัดกินพืชผลการเกษตรพังที่พักอาศัยของคนงานพังเสียหาย ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานโดยนายประวัติศาสตร์จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งผู้นำท้องถิ่นท้องที่และชุดจิตอาสา 50 นาย กระจายกำลังกันออกและรอยติดตามผลักดันฝูงช้างป่าให้กับข้าวป่าพื้นที่ชั้นในสุดเพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน
ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่มาที่บ้านนายวิเชียร นาคพงศ์ เจ้าของบ้านเลขที่ 420 หมู่ 3 บ้านวังไอ้ป่องที่บันทึกคลิปกล่าวว่า ช่วงเมื่อคืนประมาณตี 2 ได้ยินเสียงช้างร้องจึงเปิดประตูกับหลานชายออกมาดูที่หน้าบ้านถึงกับตกตะลึง เห็นฝูงช้าง1 ฝูงไม่ทราบว่ามีกี่ตัวกำลังเดินผ่านหน้าบ้าน ด้วยความตกใจกลัวจึงบอกให้หลานถ่ายคลิปไว้และปิดประตูบ้านหนีเพื่อความปลอดภัย รุ่งเช้าออกมาดูพบว่ารอยช้างฝูงใหญ่กัดกินเหยียบย่ำกล้วย มัน 5 นาที จนเกลี้ยงและพบร่องรอยหนีเข้าป่าไป
และมีเจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วของอุทยานฯลงมาตรวจสอบและวัดรอยเท้าช้างฝูงนี้ ซึ่งวัดรอยเท้าของช้างป่าตัวใหญ่วัดได้รัศมีวงกลม 30 ซม.ซึ่งที่ผ่านมามีช้างตัวใหญ่อีก 1 ฝูงที่วัดรอยเท้าได้ 34 ซม.คาดว่าโขลงช้างป่าน่าจะแยกฝูงหากิน ล่าสุดเส้นทางเดินของช้างเจ้าหน้าที่กำลังแกะรอยเพื่อผลักดันฝูงช้างป่าให้กลับเข้าเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเพื่อความปลอดภัยของชาวบ้าน ทางอุทยานแห่งชาติทับลาน ระดมกำลังเจ้าหน้าที่เพิ่ม พร้อมด้วยอากาศไร้คนขับ (โดรน) 4 ลำ ผลักดันช้างป่ากลับสู่ป่าอย่างต่อเนื่อง!
ขณะที่นายยศวัฒน์ เธียรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) เปิดเผยว่า หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่และโดรน 4 ลำ เพื่อปฏิบัติการผลักดันช้างป่าจำนวน 32 ตัวที่ออกมาหากินในพื้นที่ชุมชนกลับคืนสู่ป่าอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์เริ่มต้นขึ้นเมื่อคืนวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เจ้าหน้าที่ได้เข้าผลักดันช้างป่าประมาณ 35 ตัวที่ออกมาบริเวณหมู่ 3 บ้านวังไอ้ป่อง ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี แต่ช้างป่าประมาณ 5 ตัวเกิดแตกโขลงหลุดรอดการเฝ้าระวังเข้าไปในวัดวังทองวนาราม และรื้อค้นเพิงพักคนงานในสวนยูคาลิปตัส คาดว่าช้างป่าได้กลิ่นเครื่องปรุงรสจึงพยายามรื้อค้นหาอาหารบริเวณถังขยะ หัวหน้าอุทยานฯ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดชุดเฝ้าระวังบ้านเรือนประชาชนเพื่อความปลอดภัย
วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เปิดยุทธการผลักดันช้างป่า 32 ตัว โดยแบ่งกำลังออกเป็น 4 ชุด เพื่อเฝ้าระวังและสกัดกั้นตามแนวขอบชายป่า ด้วยการก่อกองไฟให้เกิดควันบริเวณจุดทางออกที่กำหนดไว้ พร้อมใช้โดรนบินตรวจการณ์อย่างใกล้ชิด
กระทั่งเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ยินเสียงและพบโขลงช้างป่าเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตก บริเวณหมู่ 2 บ้านท่าสะตือ ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จึงได้ติดตามและผลักดันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโขลงช้างเคลื่อนที่กลับเข้าสู่ป่าธรรมชาติได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ยังคงพบช้างป่าบางส่วนพยายามแยกกลุ่มย่อยและหันหน้าออกจากพื้นที่ป่า เจ้าหน้าที่จึงยังคงจัดชุดกำลังเข้าผลักดันและเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากคืนวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้ปฏิบัติการไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง
จึงต้องปรับแผนเป็นส่งทีมเข้าไปนอนเฝ้าบ้านให้ชาวบ้านในจุดเสี่ยงก่อนเข้าดำเนินอีกครั้งในช่วงเช้าวันถัดไปเฝ้าระวังและผลักดันช้างป่าให้กลับคืนสู่ป่าได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป
โดย...มานิตย์ สนับบุญ - ข่าว / ทองสุข สิงห์พิมพ์ – ภาพ / ปราจีนบุรี ###