ฝ่ายปกครอง จ.แม่ฮ่องสอน ผนึกกำลัง!! 24 หน่วยงาน MOU ดำเนินงานป้องกัน ควบคุม โรคไข้มาลาเรีย ในพื้นที่แพร่เชื้อสูง

ฝ่ายปกครอง จ.แม่ฮ่องสอน ผนึกกำลัง!! 24 หน่วยงาน MOU ดำเนินงานป้องกัน ควบคุม โรคไข้มาลาเรีย ในพื้นที่แพร่เชื้อสูง





ad1

นายเชษฐา โมสิกรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน มอบหมายให้นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานป้องกัน ควบคุม โรคไข้มาลาเรีย และประสานความร่วมมือภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานเร่งรัดกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่แพร่เชื้อสูง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมี นายอัครพันธุ์  พูลศิริ นายอำเภอสบเมย, นายสุรเชษฐ์  พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง ,นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ นายแพทย์วรัญญู จำนงประสาทพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย และองค์การมัลติเซอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Malteser International) ประเทศไทย เข้าร่วมกิจกรรม   ที่ ห้องประชุมบ้านไม้แดง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แพทย์หญิงเสาวนีย์ วิบุลสันติ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย ที่เริ่มพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา โดยจังหวัดแม่ฮ่องสอนพบผู้ป่วยมาลาเรียสูงเป็นเป็นอันดับ 1 ของเขตสุขภาพที่ 1 และเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ซึ่งพบว่าเป็นผู้ป่วยมาลาเรียตามแนวชายแดนไทยพม่าถึงร้อยละ 98 ของผู้ป่วยทั้งประเทศ จากสถานการณ์โรคไข้มาลาเรียในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 1 มีนาคม 2566 พบรายงานผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย จำนวน 639 ราย โดยอำเภอสบเมย พบผู้ป่วยมาลาเรียสูงสุด ถึงร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งจังหวัด รองลงมาคืออำเภอแม่สะเรียง ร้อยละ 35 และอำเภอเมือง ร้อยละ 4

ดังนั้น สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่แพร่เชื้อสูง จังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น ระหว่าง 24 หน่วยงาน ได้แก่ 1. สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ 2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน 3. โรงพยาบาลแม่สะเรียง 4. โรงพยาบาลสบเมย 5. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สะเรียง 6. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอสบเมย 7. ที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียง 8. ที่ว่าการอำเภอสบเมย 9. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแม่ฮ่องสอน เขต 2 10. สำนักงานเทศบาลตำบลแม่ยวม 11. องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านกาศ

12. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คง 13. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่เหาะ 14. องค์การบริหารส่วนตำบลเสาหิน 15. องค์การบริหารส่วนตำบลสบเมย 16. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่คะตวน 17. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สวด 18. องค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ 19. กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 20. ค่ายสมเด็จพระบรมราชชนนีกรมทหารพรานที่ 36 แม่สะเรียง 21. สถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง 22. สถานีตำรวจภูธรสบเมย 23. มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย 24. องค์การมัลติเซอร์อินเตอร์เนชั่นแนล (Malteser International) ประเทศไทย ในการร่วมมือกันกำจัดโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยปลอดจากโรคไข้มาลาเรีย ภายในปี พ.ศ. 2567” เพื่อให้เกิดกลไกการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรมในลักษณะ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบและร่วมประเมินผล” ต่อไป

ทีมข่าว...สาธารณสุข-อนามัย และสิ่งแวดล้อม ...เดอะบางกอกไทม์. รายงาน