“วราวุธ” ไม่ขอพูดถึงเรื่องส่ง “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับ บอกอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว

“วราวุธ” ไม่ขอพูดถึงเรื่องส่ง “พลายศักดิ์สุรินทร์” กลับ บอกอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว





ad1

“วราวุธ ศิลปอาชา” เผย “พลายศักดิ์สุรินทร์” อารมณ์ดี อาการปกติ แพทย์เตรียมเริ่มการรักษาภายใน เผยช้างที่เหลือในศรีลังกายังปกติดี แต่หากบาดเจ็บพร้อมประสานกลับมา

เมื่อ วันที่ 5 ก.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าของพลายศักดิ์สุรินทร์หลังกลับมาประเทศไทย ว่า เช้าวันนี้อารมณ์ดี ส่ายหัวไปมา มีความคุ้นเคยกับสภาพรอบด้านมากขึ้น เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่เป็นอย่างดี รับประทานอาหาร นํ้า และขับถ่ายเป็นปกติ ซึ่งเร็วๆ นี้แพทย์ก็จะเริ่มรักษาโดยการตรวจสอบภายในมากขึ้น 

“ถือเป็นข่าวดีที่สุด และเป็นบุญที่สุดของคนไทย ที่เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ได้ทราบถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้พลายศักดิ์สุรินทร์ เป็นช้างในพระบรมราชานุเคราะห์ ถือเป็นบุญของช้างและคนไทยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ให้ความสำคัญกับทุกๆ ชีวิตที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะพลายศักดิ์สุรินทร์ที่ไปอยู่ต่างประเทศมา 22 ปี และเป็นที่สังเกตได้ว่าพลายศักดิ์สุรินทร์ มีงาที่สวยงาม และยาวที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความยาวเกือบ 2 เมตร เป็นงาที่โค้งและมีสัญลักษณ์สวยงามมาก ซึ่งส่วนตัวดีใจที่พากลับมาได้”

ผู้สื่อข่าวถามว่า แบบนี้ไม่ต้องส่งพลายศักดิ์สุรินทร์กลับศรีลังกาแล้วใช่หรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า พออยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์แล้ว เรื่องอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง 

เมื่อถามต่อว่า ช้างไทยอีก 2 เชือกที่ยังอยู่ที่ศรีลังกามีแนวทางที่จะนำกลับมาด้วยหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า เท่าที่ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ไปดูด้วยตัวเอง เห็นว่ายังมีความเป็นอยู่ที่ปกติสุข อาจจะมีบาดเจ็บบ้าง ก็อยู่ในวิสัยที่ประเทศศรีลังกาดูแลได้ และทราบว่าหลายมหาวิทยาลัยในประเทศศรีลังกาได้ติดต่อมาที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธ์ุพืชผ่านทางกระทรวงต่างประเทศ เพื่อแสดงเจตจำนงที่จะดูแลช้างที่ศรีลังกา

โดยบอกว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะดูแลพลายศักดิ์สุรินทร์ได้ ซึ่งก็จะมีการประสานงานกัน เพื่อให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีส่วนร่วมในการดูแลช้างที่เหลืออยู่ในศรีลังกา ส่วนการจะนำกลับมานั้น ต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคตอีกที ถ้าช้างมีการบาดเจ็บหรือ มีความเป็นอยู่ที่เหนือศักยภาพการดูแลของแต่ละองค์กรในศรีลังกา ทางประเทศไทยก็คงจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหมือนกับกรณีพลายศักดิ์สุรินทร์