อาชีพใหม่มาแรง!เกษตรกรอำเภอวังหินผันตัวเปิดฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนปาทังกา"โมจีนไข่"ขายสร้างรายได้หลายหมื่น/เดือน

อาชีพใหม่มาแรง!เกษตรกรอำเภอวังหินผันตัวเปิดฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนปาทังกา"โมจีนไข่"ขายสร้างรายได้หลายหมื่น/เดือน





ad1

หากเอ๋ยถึง"ตั๊กแตนปาทังก้า"ถือว่าเป็นศัตรูพืชตัวฉกาจสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่สร้างความหายนะเช่นกันทำให้มีการปูพรมกวาดล้างฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อกำจัดตั๊กแตนปาทังก้ากระนั้นก็ไม่สามารถปราบปรามได้ แต่ในยามวิกฤตยังมากับโอกาสเสมอ

เกษตรกรไทยได้เรียนรู้ว่าแท้จริงแล้วว่าอาวุธที่ดีที่สุดในการจัดการกับตั๊กแตนตัวร้ายก็คือการบริโภคนั่นเอง ด้วยการนำตั๊กแตนมาทอดกับน้ำมันร้อนๆ จิ้มด้วยซอสปรุงรสเด็ด อร่อยแซบเวอร์ถูกปากถูกใจ กลายเป็นเมนูอันโอชะของกลุ่มที่ชื่นชอบเปิบอาหารประเภทแมลงที่อุดมไปด้วยโปรตีนสูงจนฮิตติดลมบนอยู่ในขณะนี้

สุพัตรา เขตนิมิตร เจ้าของสุพัตราฟาร์ม

จากกระแสความนิยมบริโภคตั๊กแตนปาทังก้าอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดอาชีพมาแรงในยุคนี้ จากอาชีพเสริม กลายเป็นอาชีพหลัก ลงทุนน้อย กำไรงาม เลี้ยงแค่ 30 วันจับขายผ่าน พ่อค้าคนกลาง และทอดขายร้อนๆ เป็นอาหารว่างหรือกับแกล้มรสโอชะ โปรตีนสูง ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลินจนตั๊กแตนทอดกลายเป็นสตรีตฟู้ดยอดนิยม เมื่อได้รับความนิยมมากขึ้น ตั๊กแตนปาทังก้าก็มีราคาสูงขึ้น จนชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากการจับตั๊กแตนขายได้มากกว่าการปลูกพืชบางชนิดเสียอีก

เช่นเดียวกับ"สุพัตราฟาร์มตั๊กแตน"บ้านสว่าง ตำบลทุ่งสว่าง อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งได้เพาะพันธุ์ตั๊กแตน กว่า 15 โรงเรือน และ มีตั๊กแตน 6 สายพันธุ์หายากและใกล้สูญพันธุ์ กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเจ้าของฟาร์มแห่งนี้บริหารจัดการโดย คุณสุพัตรา เขตนิมิตร และ คุณธนภัทร บุตรสวัสดิ์

ธนภัทร บุตรสวัสดิ์ ผู้จัดการฟาร์มฯ

คุณธนภัทร  บอกว่า จากทำเป็นอาชีพเสริมหลังจากทำนาก็หันมาเลี้ยงตั๊กแตนไว้เพื่อรับประทานเอง เพราะว่าเป็นคนชอบกินแมลง แต่พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาตั๊กแตนมีจำนวนมากขึ้นจึงมีแนวคิดเลี้ยงขายเป็นอาชีพหลักเพราะสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำดีกว่าทำไร่ทำนาที่สำคัญลงทุนน้อย ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนค่าอาหารสัตว์ เพียงแค่ปลูกหญ้าตัดมาเลี้ยงง่ายแสนง่าย

"ตอนนี้ตั๊กแตนที่เลี้ยงอยู่มีด้วยกัน 6 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ปาตังก้าโมจีน ,โมนา หรือ โมไทย และยังมีสายพันธุ์ปาตังก้าดังเดิม ตั๊กแตนข้าวจ้าว ตั๊กแตนเจ้ย และโมเขียวใหญ่ ซึ่งตั๊กแตนสายพันธุ์นี้เหลือน้อยและแทบจะสูญพันธุ์แล้ว ส่วนตั๊กแตนที่ถือว่าทำรายได้ให้แก่ฟาร์มได้แก่ ตั๊กแตนโมจีนไข่ ซึ่งสายพันธุ์นี้จะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงเพียง 25-30 วัน ก็สามารถจำหน่ายได้ ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธ์หลังผสมพันธุ์ 30-35 วัน ก็จะเริ่มวางไข่นำมาเพาะเลี้ยงรุ่่นต่อไป ถือว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้ตลอดทั้งปี"คุณะนภัทร กล่าว

เกษตรกรชาวอำเภอวังหิน บอกต่อว่า การเลี้ยงตั๊กแตนเริ่มแรก หลังจากได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงแล้ว ได้สั่งซื้อไข่ตั๊กแตนจำนวน 1 ขีด ในราคาขีดละ 1,000 บาท โดยเตรียมสถานที่เลี้ยงทำโรงเรือนสำหรับเลี้ยงตั๊กแตน ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 6  สูง 2.5 เมตร ใช้มุ้งไนลอนมุงทั่วโรงเรือน เป็นโรงเพาะเลี้ยง

สำหรับขั้นตอนในการเลี้ยง คือ นำไข่ตั๊กแตนที่เพาะใส่ถาด ซึ่งจะไม่ใช้ดินทรายในการเพาะเลี้ยง แต่ใช้จะใช้ขุยมะพร้าวแทน เนื่องจากการใช้ขุยมะพร้าวจะทำให้ตัวอ่อนของตั๊กแตนฟักตัวได้เร็วกว่า จากนั้นรดน้ำเช้าเย็น ประมาณ 8-10 วัน ตั๊กแตนก็จะฟักออกมา ก็จะเริ่มให้อาหารเป็นพวกหญ้า ซึ่งตั๊กแตนจะกินหญ้าใบใหญ่ทุกชนิด ใบตองกล้วย ใบไผ่ ใบข้าวโพด และผักตบชวา ช่วงเช้าและเย็นในปริมาณที่พอเหมาะ ประมาณ 1 เดือน ก็จะลอกคราบ เมื่อตั๊กแตนลอกคราบก็จะเริ่มมีการจับคู่ 3-4 วัน นำดินทรายเข้าไปในโรงเลี้ยง เพื่อที่จะให้ตั๊กแตนวางไข่

จากนั้น พรมน้ำหมาดๆ บนทรายเช้าเย็น ตั๊กแตนก็จะเริ่มทยอยไข่ เราก็เก็บไข่ 3 รอบ ระยะเวลาห่างกันเพียง 5 วัน แล้วทางฟาร์มก็จับตัวตั๊กแตนตัวสดๆ ไปแช่แข็งเพื่อจำหน่าย โดยปกติตั๊กแตนจะออกไข่ได้ประมาณ 3-4 รอบ แต่เพื่อให้คงความสดใหม่ คงคุณภาพทั้งไข่และตัวตั๊กแตน ทางฟาร์มของตนจึงเก็บไข่เพียง 3 รอบเท่านั้น

ส่วนในการจำหน่าย ตั๊กแตนโมจีนไข่ จะอยู่ที่กิโลกรัม ละ 400-450 บาท แล้วแต่ช่วงฤดู ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าที่สั่งซื้อส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้าห้องเย็น แม่ค้าขายแมลงทอด ซึ่งจะสั่งซื้อตั้งแต่ 20 กิโลกรัม ไปจนถึง 100 กิโลกรัม แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งเร็ว ๆ นี้จะทำการขยายโรงเลี้ยงเพื่อส่งให้ทันต่อความต้องการของตลาด โดยแต่ละเดือนทำรายได้จากการจำหน่ายทั้งไข่และตัวสดของตั๊กแตนแต่ละเดือนจำนวนหลายหมื่นบาท

โดย...เสนาะ วรรักษ์/เรื่อง:ศราวุธ มหาเวทปัดทอง/ภาพ