สส.เพชรบุรี 'รทสช.'จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาดินโคลนทับถมปากทางเข้าออกทะเลสางความเดือดร้อนชาวประมง

สส.เพชรบุรี 'รทสช.'จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาดินโคลนทับถมปากทางเข้าออกทะเลสางความเดือดร้อนชาวประมง





ad1

สส.เพชรบุรี รทสช.จี้หน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาดินโคลนทับถมปากทางเข้าออกทะเล ชาวประมงพื้นบ้านเดือดร้อนหนัก ปัญหาน้ำทะเลหนุนทำนาข้าวเสียหาย อีกทั้งประชากรลิงเพิ่มจำนวนมากกระทบการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ของประชาชน 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 นางธิวัลรัตน์  อังกินันทน์ สส.เพชรบุรี เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายหารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรถึงความเดือดร้อนของประชาชนในจ.เพชรบุรี ว่า จากการลงพื้นที่พบพี่น้องประชาชน และผู้ประกอบอาชีพเรือประมงในพื้น ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม ได้รับทราบปัญหาดินโคลนทับถมบริเวณปากคลองทางเข้าออกทะเลของชาวประมงพื้นบ้าน ทำให้เรือประมงไม่สามารถออกไปจับสัตว์น้ำได้

นอกจากนั้น ยังส่งกระทบไปยังพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ต.บางแก้ว ต.บางขุนไทร และ ต.แหลมผักเบี้ย ทำให้ชาวประมงไม่สามารถนำเรือออกมารายได้เลี้ยงชีพได้ ถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไข แม้ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าจะแก้ปัญหาด้วยการนำเครื่องจักรมาขุดลอกโคลนในคลองไปแล้วหนึ่งครั้ง แต่จนถึงวันนี้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การทับถมของโคลนทะเลมีมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้การขุดลอกด้วยวิธีดังกล่าวยังทำให้เกิดการทับถมของเปลือกหอยเพิ่มขึ้นด้วย

สส.เพชรบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ อภิปรายว่า จากการพูดคุยสรุปแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงเห็นว่า ควรจะมีการขุดลอกดินโคลนที่ทับถมบริเวณปากทางออกทะเลจากปีละ 1 ครั้ง เป็นทุก 6 เดือน ขอให้สร้างแนวป้องกันเปลือกหอยที่จะสไลด์หล่นลงไปปิดทางเรือของชาวบ้าน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการกำจัดเศษเปลือกหอยที่มาทับถมให้เกิดความตื้นเขินในคลอง เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการเองได้ เพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันขอให้อธิบดีกรมเจ้าท่า และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจัดงบประมาณประจำปีให้กับกรมเจ้าท่า จ.เพชรบุรี เพิ่มเติมจากเดิมเพื่อใช้ในการขุดลอกดินโคลาน และสร้างแนวป้องกันด้วย

นางธิวัลรัตน์ อภิปรายว่า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาน้ำทะเลหนุนส่งผลทำให้ประชาชนใน อ.บ้านแหลมที่ประกอบอาชีพประมง ทำนาเกลือ และทำนาข้าวได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของ อ.บ้านแหลมจะมีน้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม – กุมภาพันธ์ของทุกปี ทำให้น้ำเค็มท่วมขังในพื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหาย อีกทั้งปัญหาน้ำเค็มหนุนเข้ามาปะปนกับน้ำจืดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างมากจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสร้างประตูกั้นน้ำเค็มเพิ่มขึ้นด้วย

นางธิวัลรัตน์ อภิปรายต่อว่า ตนได้รับร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาลิงสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการโดยไม่สามารถควบคุมจำนวนของลิงได้ เนื่องจากมีการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว อาทิ ในพื้นที่เขาวัง เขาหลวง เขาบันไดอิฐ อ.เมือง และ ในพื้นที่ อ.บ้านแหลม ปัจจุบันมีลิงมากกว่า 2 หมื่น ตัวส่งผลกระทบถึงความเป็นอยู่และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว จึงขอฝากไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเร่งรัด และดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย