บ้านพิบูลธรรมตำนาน 126 ปี จากบ้านกระทรวงวัง สู่ที่ทำงานรมว.พลังงาน"พีรพันธุ์"

บ้านพิบูลธรรมตำนาน 126 ปี จากบ้านกระทรวงวัง สู่ที่ทำงานรมว.พลังงาน"พีรพันธุ์"





ad1

เปิดตำนาน 126 ปี จาก “บ้านนนที” ที่รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 พระราชทานให้ “หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล” เสนาบดีกระทรวงวัง สู่ “บ้านพิบูลธรรม” ในสมัย “จอมพล ป.” และเป็นที่ทำงานของ รมว. พลังงาน ในอดีตและปัจจุบันเป็นที่ทำงาน "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน

ถือฤกษ์ เวลา 15.00 น.ของวันที่ 13 กันยายน 2566  เดินทางเข้าทำงานในตำแหน่งรมว.พลังงาน หลังจาก"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน"ประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้นลง โดยเลือกใช้บ้านพิบูลธรรม เลขที่ 17 เชิงสะพานกษัตริย์ศึก ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวันเป็นสถานที่ทำงานแทนกระทรวงพลังงานเดิมที่อยู่ย่านถนนวิภาวดี

ทันทีที่มาถึง "พีระพันธุ์" ได้เข้าสักการะพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 5พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 6 พร้อมวางพวงมาลัยทำความเคารพภาพถ่ายของ ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล อดีตเจ้าของบ้านพิบูลธรรม และสักการะศาลพ่อปู่สิงห์ สุรชัยยะเทวะ ด้านหน้าอาคาร

สำหรับ "บ้านพิบูลธรรม"เป็นอาคารเก่าแก่สวยงาม และทรงคุณค่า มีประวัติความเป็นมาไม่ต่างจากทำเนียบรัฐบาล วันนี้ จึงพามาดู “บ้านพิบูลธรรม” ว่ามีประวัติความเป็นมาน่าสนใจอย่างไร เดิมชื่อว่า “บ้านนนที” ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ประมาณปี พ.ศ. 2440 ในเนื้อที่ประมาณ 4-5 ไร่ ต่อมาเมื่อเกิดทางรถไฟสายเหนือขึ้นที่สถานีหัวลำโพง ที่ดินบางส่วนของบ้านจึงต้องถูกเวนคืนให้แก่ทางราชการเพื่อสร้างทางรถไฟ ทำให้เนื้อที่ของบ้านถูกแยกออกเป็นสองส่วน มีทางรถไฟผ่าเกือบกลางเนื้อที่ โดยด้านหนึ่งติดริมคลองผดุงกรุงเกษมอีกด้านหนึ่งติดทางรถไฟสายเหนือ และวัดบรมนิวาสราชวิหาร ด้านหน้าติดถนนพระราม 1 และด้านท้ายติดห้องแถวตลาดโบ้เบ้

บ้านนนที เดิมมีหลังเดียวคือ ตึกกลาง (หรืออาคาร 1 ในปัจจุบัน) ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้รับพระราชทานทั้งที่ดินและบ้านจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งเป็น พระยาอนุรักษราชมณเฑียร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ประมาณปี พ.ศ. 2456 ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล ได้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง มียศเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี หลังจากรับราชการในตำแหน่งนี้มาได้ประมาณ 8-10 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินให้สร้างตึกอีกหลังหนึ่งพร้อมกับบริเวณและตกแต่งอาคารหลังเดิมใหม่ เพื่อที่จะเสด็จมาประทับชั่วคราว  โดยในการก่อสร้างออกแบบอาคารทำโดยวิศวกรและสถาปนิกชาวอิตาเลียนทั้งหมด และตกแต่งแกะลวดลายไม้ต่างๆ โดยนายช่างเป็นชาวเซี่ยงที่ร่วมกับนายช่างไทย และมีศิลปินชาวอิตาเลียนเขียนภาพเพดานและภาพฝาผนังภายในห้องต่าง ๆ

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านนนทีถูกระเบิดที่ฝ่ายสัมพันธมิตรนำมาทิ้งโจมตีสถานีรถไฟหัวลำโพง แต่ลูกระเบิดไม่ถูกเป้าหมายกลับมาลงที่บ้านนนทีหลายลูก ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างหนัก เกินกว่าที่เจ้าของบ้านจะซ่อมแซมให้คืนสภาพเดิมได้ ทางเจ้าของบ้านคือ หม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล จึงได้เสนอขายให้แก่ทางรัฐบาลติดต่อกันมาหลายปี จนถึงปี พ.ศ.2498 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้อนุมัติให้โรงงานยาสูบซื้อไว้เป็นสถานที่ราชการ และเปลี่ยนชื่อจาก “บ้านนนที” เป็น “บ้านพิบูลธรรม” และถูกใช้เป็นบ้านรับรองของรัฐบาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 การพลังงานแห่งชาติ (หรือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ) ใช้มาจนถึงปัจจุบัน