หมอโรงพยาบาลพิจิตรจับมือหมออนามัยรณรงค์ชาวบ้านใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเหตุซื้อยาชุดร้านของชำกินเองส่งผลไตวายเพียบ

หมอโรงพยาบาลพิจิตรจับมือหมออนามัยรณรงค์ชาวบ้านใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลเหตุซื้อยาชุดร้านของชำกินเองส่งผลไตวายเพียบ





ad1

สังคมโซเชียลทำป่วนเมื่อหมอโรงพยาบาลและหมออนามัยพบว่าชาวบ้านซื้อยาชุดกินเองจากร้านขายของชำหรือร้านโชห่วยในหมู่บ้าน เหตุส่วนหนึ่งมาจากเชื่อโซเชียลแต่ไม่เชื่อหมอไม่สนคำเตือน อสม. เป็นอะไรนิดหน่อยก็ซื้อยาชุดกินเอง โดยเฉพาะยาที่มีสเตียรอยด์ (Steroid) กินแล้วออกฤทธิ์หายเจ็บปวดเร็วแต่หลังจากนั้นส่งผลกลายเป็นผู้ป่วยไตวายระยะเรื้อรังทั้งหมู่บ้านพบเจอเกือบ 40 ราย สุดท้ายเอาจริงได้ร้านขายของชำร่วมมือเลิกขายได้ผลเกินคาดจนได้รับรางวัล

วันที่ 2 ตุลาคม 2566  พญ.นงลักษณ์ บุตรดี ประธานคณะทำงานการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลของจังหวัดพิจิตร จากโรงพยาบาลพิจิตร เปิดเผยภายหลังเป็นวิทยากรให้ความรู้กับหมออนามัย-รพ.สต.-ชาวบ้านและผู้นำชุมชนของตำบลฆะมัง อ.เมืองพิจิตร โดยมี นางละอองจิตร ดีมั่น ผอ.รพ.สต.ฆะมัง  และ นางสาวนันทนี มีแดนไผ่“นายกแมว” นายก อบต.ฆะมัง พร้อมด้วยทีมงาน อสม.และผู้นำชุมชนที่ร่วมกันสรุปบทเรียน

ในเรื่องของการที่ประชาชนและร้านค้าในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของชาวบ้าน ที่ตรวจพบเจอผู้ป่วยเรื้อรัง ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน-ความดัน ซึ่งพบว่าทุกเพศทุกวัยเกือบ 40 คน ที่มีอาการป่วยด้วยโรคไตวายระยะเรื้อรัง จากการซื้อยาชุดจากร้านขายของชำในหมู่บ้านและชุมชนมากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์

 ดังนั้นในเรื่องนี้ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพของชาวบ้าน รพ.สต.ฆะมัง จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความรู้กับ อสม. และชาวบ้าน รวมถึงร้านค้า ร้านขายของชำในชุมชนที่มี 18 ร้าน โดยขอความร่วมมือไม่ขายยาชุด ไม่ขายยาที่มีฤทธิ์เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวทำต่อเนื่องจนทำให้ร้านค้าในชุมชนปลอดจากร้านขายยาชุดที่ไม่ได้รับอนุญาต จาก สนง.สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร จนทำให้สถานการณ์ด้านสุขภาพของประชาชนกลับมาดีขึ้นและตระหนักถึงความจำเป็นในการกินยาแบบสมเหตุสมผล

โดย พญ.นงลักษณ์ บุตรดี ประธานคณะทำงานการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลของจังหวัดพิจิตร  ได้ให้สัมภาษณ์ ว่าร้านขายของชำเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชนอย่างไร?  โดยกล่าวว่าร้านขายของชำที่อยู่ในหมู่บ้านในชุมชนในพื้นที่ชนบทซึ่งมีการนำยามาจำหน่าย

ดังนั้นร้านขายของชำเหล่านี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องรู้ว่า ยาอะไรสามารถขายได้และขายไม่ได้ เพราะยาบางอย่างไม่ได้รับอนุญาตและเป็นยาอันตรายที่ไม่ควรจะนำมาจำหน่ายในร้านขายของชำ เนื่องจากร้านขายของชำในหมู่บ้านเป็นร้านสะดวกซื้อของคนในชุมชน หรือเป็นสถานที่ที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เมื่อมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็จะมาหาซื้อยาในร้านขายของชำ เพราะง่ายและสะดวกดี

จากการทำงานแพทย์ของโรงพยาบาลพิจิตร พบว่าประชาชนส่วนหนึ่งใช้ยาแบบไม่ปลอดภัย โดยส่วนใหญ่จะซื้อมาจากร้านขายของชำ จึงต้องลงพื้นที่ดูและสร้างให้ร้านขายของชำมีมาตรฐานที่จะเลือกนำยามาขายในร้าน ซึ่งการทำงานก็จะเชื่อมโยงกับทีมงานของ สสจ.พิจิตร ที่นำโดย นายสมจินต์ มากพา รักษาการเภสัชกรเชี่ยวชาญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร-หมออนามัย-องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยช่วยกันดูแลติดตามกำกับการขายยาในร้านขายของชำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายที่กำหนด

เหตุจากปัญหาที่แพทย์พบเจอ จากการขายยาในร้านขายของชำ คือมีการขายยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ (Steroid) ซึ่งยาพวกนี้เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบและลดอาการเจ็บปวด เมื่อกินเข้าไปแรกๆก็จะ รู้สึกว่าได้ผลดี แต่ผลลัพธ์ที่ตามมาของยาสเตียรอยด์เหล่านี้คือ จะไปกดภูมิคุ้มกัน เมื่อใดที่ร่างกายมีการอักเสบหรือติดเชื้อ ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะทำงานได้ไม่เต็มที่ รวมไปถึงยังทำให้เกิดโรคเบาหวาน และ โรคกระดูกพรุน อย่างนี้เป็นต้น

ทำให้มีคนไข้จำนวนไม่น้อยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วแพทย์ตรวจพบว่า ต่อมหมวกไตทำงานผิดปกติ สอบถามคนไข้ก็ได้รับคำตอบว่า เกิดจากการที่คนไข้ซื้อยาชุดกินเอง ซึ่งซื้อจากร้านขายของชำในหมู่บ้าน โดยเป็นยาชุด ซึ่งยาเหล่านั้นมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์

โดย พญ.นงลักษณ์  ประธานคณะทำงานการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลของจังหวัดพิจิตร  ได้ฝากเตือนประชาชนและร้านขายของชำ ว่า ควรจะต้องรู้ว่ายาประเภทไหนเป็นยาอันตราย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง  เช่น ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดต่างๆ  ยากลุ่ม NSAIDs ยาพวกนี้เมื่อกินไปนานๆ ก็จะทำให้เกิดอาการข้างเคียงโดยจะส่งผลต่อระบบไต หรืออาจทำใหไตวายเรื้อรังได้  ดังนั้นอยากฝากว่า หากเจ็บป่วยและมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาแนะนำว่าควรไปพบแพทย์หรือไปที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน

โดย...สิทธิพจน์ เกบุ้ย จังหวัดพิจิตร