ผู้ว่าฯชลบุรีนำพุทธศาสนิกชน ตักบาตรเทโวข้าวต้มหาง สืบสานประเพณีออกพรรษา

ผู้ว่าฯชลบุรีนำพุทธศาสนิกชน ตักบาตรเทโวข้าวต้มหาง สืบสานประเพณีออกพรรษา





ad1

ผู้ว่าฯชลบุรีนำพุทธศาสนิกชน ตักบาตรเทโวข้าวต้มหาง สืบสานประเพณีออกพรรษา ณ บริเวณหน้าหอพระพุทธสิหิงค์ฯ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี

เมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 30 ตุลาคม 2566  ณ บริเวณหน้าหอพระพุทธสิหิงค์ฯ ตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี พร้อมด้วย นางสาวประภัสรา ศรีทอง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี ทำบุญตักบาตรร่วมกับพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ ตามประเพณีตักบาตรข้าวต้มหาง ในวันตักบาตรเทโวโรหณะ ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันนำข้าวสารอาหารแห้ง ไปทำบุญตักบาตรแด่พระสงฆ์ เพื่อสืบสานประเพณีอันดีงาม สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

วันออกพรรษา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย-ลาว "วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ 3 เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา

การตักบาตรเทโว จะกระทำกันในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือ หลังวันออกพรรษา 1 วัน ซึ่งในสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้และเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา โดยจำพรรษาอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา 1 พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วพระองค์ได้เสด็จกลับโลกมนุษย์ ณ เมืองสังกัสสนคร การที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกตามศัพท์บาลีว่าเทโวโรหณะในครั้งนั้น บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้มีความศรัทธาเลื่อมใสเมื่อทราบข่าวต่างพร้อมใจกันไปรอรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น จนถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

สำหรับในจังหวัดชลบุรีนิยมนำข้าวต้มหางไปทำบุญตักบาตรลักษณะคล้ายข้าวต้มมัดแต่ห่อให้มีขนาดเล็กกว่า ไว้หางยาวเพื่อความสะดวกในการใส่บาตร เนื่องจากในวันดังกล่าวมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมารอตักบาตร เมื่อตักบาตรไม่ถึงก็จะใช้วิธีโยนข้าวต้มหางใส่บาตร ภาคกลางจึงเรียกข้าวต้มลูกโยน