'คมนาคม' เร่งเครื่องทางคู่เชื่อมรถไฟ 5 ชาติดันไทยฮับขนส่งภูมิภาค

'คมนาคม' เร่งเครื่องทางคู่เชื่อมรถไฟ 5 ชาติดันไทยฮับขนส่งภูมิภาค





ad1

คมนาคม’หนุนเส้นทางรถไฟสิงคโปร์-คุนหมิงเชื่อม 5 ประเทศ ‘สิงคโปร์-มาเลเซีย-ไทย-ลาว-จีน’ลุยเปลี่ยนทางคู่ภายในปี 70 ดันไทยเป็นฮับคมนาคมขนส่งของภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า-ผู้โดยสาร 

เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง(ขร.) เปิดเผยภายหลังงานเสวนาหัวข้อ “โอกาสของไทยในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งภูมิภาคเชื่อมไทยเชื่อมโลก” ในงาน “4th iTIC FORUM 2023 : Power of Connectivity and Smart Mobility ว่า กระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ที่เชื่อมโยงทางรถไฟ 5 ประเทศ รวมระยะทางประมาณ 4,500 กิโลเมตร(กม.) ได้แก่ สิงคโปร์, มาเลเซีย, ไทย, ลาว และจีน จากปัจจุบันยังมีบางช่วงเป็นทางเดี่ยว เป็นทางคู่ให้ได้ในปี 2570 เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระดับภูมิภาคจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงเอเชียตะวันออก และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า และผู้โดยสารเดินให้สะดวก และรวดเร็วขึ้น รวมทั้งยังส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ) ด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี(ปี 2561-2580) ด้วย

นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเส้นทางสิงคโปร์-คุนหมิง เหลือเพียงช่วงชุมพร-ปาดังเบซาร์เท่านั้น ที่ยังเป็นทางเดี่ยวซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดให้เสนอช่วงดังกล่าว และดำเนินการโดยเร็วที่สุด โดยในช่วงนี้มีอยู่ 3 เส้นทางทางใต้ในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ(เฟส)ที่ 2 ได้แก่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 5.7 หมื่นล้านบาท และช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6.6 พันล้านบาท เบื้องต้นทราบว่าช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังฯรฟท.จะเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) พิจารณาในเดือน พ.ย.2566 และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในปี 2566

“การที่ไทยจะเป็นฮับด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้นั้น ต้องเร่งผลักดันโครงการรถไฟทางคู่เฟสที่ 2 ซึ่งมี 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กม. วงเงิน 2.75 แสนล้านบาทด้วย เพราะจะทำให้เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง มีความสมบูรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงคมนาคม ยังอยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างสะพานมิตรไทย-ลาว(หนองคาย-เวียงจันทน์) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่คู่ขนาน และห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) ประมาณ 30 เมตร โดยปัจจุบันกรมทางหลวง(ทล.) ได้ศึกษาแล้วเสร็จ และ รฟท. ได้ตั้งงบประมาณปี 2567 เตรียมออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างสะพานฯ พร้อมทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) แล้ว”นายพิเชฐ กล่าว