เตรียมพลิกผื่น"ป่าสะเดา"กว่าพันไร่เนรมตรแหล่งอาหารช้างป่าปราจีนบุรี


จากกรณีที่เกิดปัญหาช้างป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา (ป่าลุ่มต่ำผืนสุดท้ายของไทยในเขตป่ารอยต่อ5จังหวัดภาคตะวันออก จ.ฉะเชิงเทรา,จ.สระแก้ว,จ.จันทบุรี ,จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี) พากันอพยพย้ายถิ่นหากินข้ามฝั่งจาก จ.ฉะเชิงเทรา ข้ามมาหากินไกลถึง ในฝั่งของพื้นที่ ตำบลวังท่าช้าง ,ตำบลเขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และมีแนวโน้มเป็นสัตว์ประจำถิ่น สร้างผลกระทบระหว่างคนกับช้างป่าในหลาย ๆปัญหาติดตามมา ทั้งช้างป่าเกิดอุบัติเหตุถกรถชนตาย-บาดเจ็บ,ช้างป่าถูกช๊อตด้วยไฟฟ้า,ถกยิง ,ถูกกับดักอื่น ๆ ช้างทำลายที่พักอาศัย ,ยุ้งฉางการเกษตร ,นาข้าว,ไร่อ้อย ,มันสะหลัง ,ข้าวโพด ,สวนผลไม้ ตลอดจนทำร้ายคนตาย-บาดเจ็บ
เหยื่อรายล่าสุด คือ นายวัลลภ ศรีกอง บ้านเลขที่ 225 หมู่ที่ 11 บ้านคลองยาง อายุ 42 ปี ได้ถูกช้างป่าทำร้ายจนเสียชีวิต สถานที่เกิดเหตุในไร่อ้อยที่ถูกตัดแล้ว ใกล้คลองยาง หมู่ที่ 8 บ้าน คลองตามั่น ต.เขาไม้แก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยปัญหาที่เกิดขึ้น สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1( ปราจีนบุรี) ที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวว่า หลังเกิดเหตุ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ์ รมว.ทส. ได้มอบผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดตามการแก้ไขปัญหาช้างป่า พร้อมหาแนวทางสร้างกองทุนช่วยเหลือจากปัญหาช้างป่าออกมานอกพื้นที่เข้ามาสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้ขอบป่าอนุรักษ์กว่า 49 แห่งทั่วประเทศและ มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้( 18 ก.พ.2567 ) พล.ต.อ.พัชรวาท รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ ร.อ.รชฎ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตำบลวังท่าช้าง และ ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกมาหากินนอกป่าอนุรักษ์ ร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจภาคเอกชน ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอาสาสมัครเครือข่ายจิตอาสาผลักดันช้างป่า และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่า
นายธานนท์ โสถิตชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่1(ปราจีนบุรี) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาช้างป่าและการบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบ จากปัญหาช้างปาออกมาหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์สร้างความเดือดร้อนให้กับราษฎรที่มีพื้นที่ทำกินอยู่บริเวณชายชอบป่าอนุรักษ์ มาโดยตลอด โดยการสร้างคูและรั้วกันช้าง การสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารช้างในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น การตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วชุดผลักดันช้าง การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับราษฎรในการผลักดันช้างอย่างปลอดภัย การให้ความรู้ด้านการประกอบอาชีพเพื่อหลีกเลี่ยงพืชผลที่เป็นอาหารที่ช้างชอบ รวมถึงศึกษาวิธีอื่นๆ ควบคู่กันไป และมีการแก้ไขระเบียบเงินช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากช้างป่าให้ได้ค่าตอบแทน ค่าชดเชยให้สูงขึ้น
ในการนี้ ร.อ.รชฎ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำกลุ่มนักธุรกิจภาคเอกชนร่วมลงพื้นที่และรับฟังข้อมูลปัญหาต่างๆจากราษฎรในพื้นที่ด้วย เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยาราษฎรให้ได้รับความช่วยเหลือที่เพียงพอและรวดเร็ว โดยได้มีการนำเสนอการสร้างกองทุนช่วยเหลือ และสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาช้างป่า มีการนำเสนอการสร้างศูนย์รวมใจ รวมศรัทธา โดยอาจสร้างพระพิฆเนศปางนั่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมปลูกพืชอาหารช้าง พืชผลทางการเกษตร และ การสร้างตลาดรับซื้อพืชผลทางการเกษตรเป็นต้น คาดว่าพื้นที่“ป่าสะเดา” ต.วังท่าช้าง อ.กบินทร์บุรี ที่โขลงช้างป่ามาอยู่อาศัย เป็นพื้นที่ป่าสัมปทานหมดอายุเนื้อกว่าพันไร่ ซึ่งจะต้องมีการลงพื้นที่เพื่อดูความเหมาะสมในครั้งต่อไป ทั้งนี้เพื่อปรับให้คนกับช้างอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตร ไม่สร้างความเดือนร้อนให้กันและกัน
โดย...มานิตย์ สนับบุญ –ข่าว/ทองสุข สิงห์พิมพ์ ภาพ / ปราจีนบุรี