ปลาหมอคางดำ ไม่ใช่วายร้าย มองใหม่ประโยชน์หลายด้าน
จากข่าวที่สื่อเกือบทุกสำนักเผยแพร่เกี่ยวกับปลาหมอคางดำและใช้คำจำกัดความปลาชนิดนี้ ว่า เป็นปลาต่างถิ่นสายพันธุ์รุกราน (Invasive Alien Species) ตามที่ภาครัฐกำหนด ทำให้ปลาชนิดนี้กลายเป็นวายร้ายในสายตาผู้คนทันที เพียงเพราะชื่อที่เรียกขานกัน จนสังคมคล้อยตามโดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลด้านอื่นของปลา
วันนี้ขอกล่าวในมุมที่แตกแต่ง (soft side) เพื่อเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งของปลาหมอคางดำซึ่งมีโปรตีนไม่แตกต่างจากปลานิลและปลาหมอเทศ โดยเฉพาะการนำไปเป็นอาหารของมนุษย์ หรือ นำไปทำปลาป่นเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ ให้เห็นประโยชน์ของปลาหมอคางดำชัดเจนขึ้น เกิดความเข้าใจในวงกว้างมากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลขณะนี้ ที่สนับสนุนให้มีการจับปลาและบริโภคเป็นอาหารในครัวเรือน จนถึงพัฒนาเป็นเมนูอาหารร่วมสมัยประจำภัตตาคารและร้านอาหาร ขณะที่นักวิชาการบางท่านแนะนำให้พัฒนาเป็นเมนูอาหารประจำถิ่นสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ขณะนี้ รัฐบาลสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากปลาทั้งตัว เช่น นำไปทำเป็นปลาป่น เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ นำไปทำน้ำหมักชีวภาพเป็นปุ๋ยสำหรับพืช นำไปบดเป็นเหยื่อปลาและปู ตลอดจนทำเป็นอาหารในครัวเรือนจนถึงผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน เช่น น้ำปลา ปลาร้า ปลาแดดเดียว ปลาหมอคางดำทอดน้ำปลา ปลาเผา ปลาราดพริก ฉู่ฉี่ปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำทอดกระเทียม ปลาฟู ไส้อั่ว ข้าวเกรียบ ขนมจีนน้ำยา แกงส้ม แกงคั่ว ต้มส้ม ปลาลุยสวน ปลานึ่งมะนาว ห่อหมกปลา เป็นต้น ล่าสุด คณะนักวิจัยอาหารของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาปลากระป๋องทำจากปลาหมอคางดำ และยังมีผงโรยข้าวแบบญี่ปุ่น น้ำพริกปลารสแซ่บ ซึ่งหน้าตาน่ารับประทาน นับเป็นเรื่องท้าทายฝีมือของบรรดาเหล่าเชฟและนักพัฒนาอาหาร ให้นำปลาหมอคางดำไปรังสรรค์อาหารจานอร่อยให้ได้ลิ้มลองกัน
แนวทางดังกล่าวกระตุ้นให้เกิดการบริโภคปลาหมอคางดำเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยต้องการลิ้มลองรสชาติของเนื้อปลาหมอคางดำที่มีรสชาติใกล้เคียงกับปลานิลและปลาหมอเทศ อย่างเช่น ร้านอาหารชื่อดังร้านหนึ่งในจังหวัดราชบุรี สร้างโอกาสในการทำรายได้จากการแนะนำ “เมนูวาระแห่งชาติ” จากปลาหมอคางดำ โดยประกาศรับซื้อปลาจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 20 บาท และซื้อไม่ต่ำกว่าวันละ 50 กิโลกรัม หลังเมนูปลาหมอคางดำได้รับความนิยมจากลูกค้า
การใช้ประโยชน์จากปลาดังกล่าวข้างต้นยังสอดคล้องกับแนวทางเร่งด่วนของรัฐบาลขณะนี้ คือ การเร่งจับปลาออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดโดยเฉพาะปลาตัวใหญ่ เมื่อจับปลามาแล้วต้องสร้างมูลค่าให้กับปลาเพื่อจูงใจให้มีการลงแขกจับปลาต่อเนื่อง และการปฏิบัติการตามขั้นตอนต่อไป คือ การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง ให้ลงไปกินลูกปลาหมอคางดำขนาดเล็ก ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเป้าหมายในการตัดวงจรชีวิตของปลาหมอคางดำ
อีกประการหนึ่งที่ควรดำเนินการ คือ ศึกษาและเรียนรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดปลาหมอคางดำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย เพื่อนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย ในการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดปลาให้ได้มากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ
การสื่อสารเกี่ยวกับปลาหมอคางดำในช่วงนี้ หากยังตอกย้ำตลอดเวลาว่าปลามาจากทวีปแอฟริกา เป็นปลาดุร้าย กินแหลก กินไม่เลือกและสัตว์น้ำขนาดเล็กจะหายหมด ยิ่งสร้างภาพจำที่น่ากลัวให้สังคมเกิดความเข้าใจปลาชนิดนี้ผิดไปจากความเป็นจริง กระทั่งสื่อบางสำนักเรียกขานว่าปลาปีศาจ ซึ่งนั่นก็เกินความจริงไปมาก ส่วนสื่อบางคนสอบถามว่าปลาหมอคางดำกินได้หรือ? ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐควรให้ความรู้เกี่ยวกับปลาหมอคางดำ สร้างการรับรู้ให้ขยายวงกว้างขึ้น ให้คนปรับตัวอยู่กับปลาหมอคางดำได้อย่างเหมาะสม ดีที่สุดควรรับฟังและปฏิบัติตามที่ผู้เชี่ยวชาญสัตว์น้ำที่ให้ข้อมูลและแนะนำ ว่าในระยะสั้น คือเจอจับแล้วกิน ก็จะเกิดประโยชน์กับคนและปลา ส่วนระยะกลาง-ระยะยาว ต้องหาวิธีที่กำจัดปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพสูง กำจัดได้ครั้งละปริมาณมากๆ ตัดตอนการแพร่พันธุ์ เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาให้เกิดผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โดย...นรชาติ สรงอินทรีย์ นักวิชาการอิสระด้านสัตว์น้ำ