รวบ 3 กก.บริษัทร้าง ออกใบกำกับภาษีปลอมหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มเสียหายกว่า 28 ล้าน

รวบ 3 กก.บริษัทร้าง ออกใบกำกับภาษีปลอมหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มเสียหายกว่า 28 ล้าน





Image
ad1

ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.หญิง วณิชยา ไชยปรุง สว.กก.2 บก.ปอศ.,พ.ต.ท.พีระพัฒน์ สุทธเสนา สว.กก.2 บก.ปอศ., พ.ต.ท.วรรณลพ รัตนวงษ์ สว.กก.2 บก.ปอศ.พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการที่ 1, 2 และ 3 ของ กก.2 บก.ปอศ.

ร่วมกันจับกุม

1. นางยุพาฯ อายุ 68 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 901/2567
ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5
แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ซ.เฉลิมพระเกียรติฯ ๓๘ แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร

2. นางสาวปัญจรัตน์ฯ อายุ 50 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 902/114
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”
สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ถนนสาธรประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

3. นางสาวมาณัฐรวีฯ อายุ 45 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ที่ 903/114
วันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “ร่วมกันออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิออกและร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นความผิดตามมาตรา 90/4(3) มาตรา 90/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา”

สถานที่จับกุม บริเวณหน้าบ้านพักในพื้นที่ ถนนสาธรประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร

พฤติการณ์ สืบเนื่องด้วยกรมสรรพากรได้มาร้องทุกข์ที่ กก.2 บก.ปอศ. ให้พิจารณาดำเนินคดีอาญาความผิดกับบริษัทฯ และอดีตกรรมการบริษัททั้งสิ้น 3 ราย คือ นางยุพาฯ, นางสาวปัญจรัตน์ฯ และนางสาวมาณัฐรวีฯ เนื่องจากช่วงเดือนมกราคม 2559 จนถึงมกราคม 2563 บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับเดือนมกราคม 2559 จนถึงเดือนมกราคม 2563 โดยแสดงยอดขายและยอดซื้อสูงผิดปกติ แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวไม่มีการประกอบกิจการจริงและสถานประกอบกิจการเป็นบริษัทร้างฯ สิ่งปลูกสร้างได้ถูกรื้อถอนแต่มีการจดบริษัทว่าประกอบกิจการซื้อมาขายไปสินค้าทุกประเภทตามวัตถุประสงค์ กรมสรรพากรจึงเชื่อว่าบริษัทดังกล่าว มีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่ได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการจริง

ประกอบกับบริษัทดังกล่าวไม่ส่งมอบเอกสารให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบแต่อย่างใด นอกจากนี้กรมสรรพากรได้รับแจ้งจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ต่างๆ พบว่า บริษัทได้นำภาษีซื้อไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ และไม่มีการประกอบกิจการจริง ถือเป็นภาษีซื้อไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ไม่ถูกต้อง ทำให้จำนวนภาษีซื้อและภาษีขายในเดือนภาษีไม่ตรงกันและเห็นได้ว่าบริษัทฯ มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการใดๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือวิธีการอื่นใดในทำนองเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฯประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จำนวน 49 ฉบับ มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงิน 28,419,000 บาท

จากนั้นพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. ได้ออกหมายเรียกเพื่อติดต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย มาทราบข้อกล่าวหา แต่ไม่มีผู้ต้องหาคนใดมาพบพนักงานสอบสวนตามที่ออกหมายเรียกไป จึงเชื่อได้ว่ามีพฤติการณ์หลบหนี พนักงานสอบสวนจึงได้ขออนุญาตศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องหา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอศ. ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 รายหลบหนีไปที่ใด เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนจับกุม

จึงได้เดินทางไปเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณดังกล่าว เมื่อผู้ต้องหาปรากฏตัว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้เข้าแสดงตัวและขอตรวจสอบ พบว่า เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับจริง จึงได้ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาทั้งหมดและนำตัวผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอศ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สอบถามคำให้การผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา