สีสันกลางลำน้ำ งานศิลป์บนลำเรือ “กอและ” แห่งเมืองตานี


หากมีโอกาสมาเที่ยวปักษ์ใต้ แถวปลายด้ามขวาน แถบจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส สังเกตดูตามลำน้ำ ลำคอง บริเวณปากอ่าว จะเห็นหมู่บ้านชาวประมงพื้นบ้าน จอดเรือขนาดเล็กกันเรียงราย บนลำเรือจะออกแบบลวดลาย สร้างสรรค์งานศิลป์ที่งดงาม เล่นสีฉูดฉาด ดูสะดุดสายตาไม่น้อย จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
ยิ่งหมู่บ้านชาวประมง ที่มีเรือมาจอดท่ากันจำนวนมากตามลำน้ำ ทั้งเรือหาปลา เรือยนต์ และเรือกอและลำน้อยๆ ยิ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตชุมชน จนบางท้องถิ่นร่วมกันอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่คู่สายน้ำไปอีกยาวนาน และวันนี้ร่วมกันส่งต่อให้ลูกๆหลานไว้ศึกษาหาความรู้กัน
จนกลายเป็นหนึ่งตำนานของท้องทะเลอ่าวไทยแห่งปลายด้ามขวาน ปัจจุบันเรือกอและ ไม่เพียงแค่เรือหาปลาลำเล็ก ๆที่วิ่งแล่นอยู่กลางทะเล แต่เป็นงานศิลป์ที่ถูกนำมาออกแบบตกแต่ง ใช้ในกิจกรรมงานต่างๆ เสมือนเป็นเอกลักษณ์ตัวแทนจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ที่โชว์ให้ชาวไทยในภาคต่างๆ ได้เห็นความงดงาม มรดกงานศิลป์ที่ทรงคุณค่าผ่านลำเรือ
บางคนได้ซื้อเรือกอและจำลองลำจิ๋วมาใช้ตกแต่งและเป็นของฝากแขกบ้าน แขกเมืองที่ได้มาเยือนด้ามขวานทองแห่งนี้ ด้วยความงดงามลำเรือขนาดเล็ก แต่มีรูปลักษณ์ที่ปราดเปรียว คล่องแคล่ว ลวดลายเป็นงานศิลป์ที่ดูมีเรื่องราว ลักษณะของเรือคล้ายๆตัวปลา ชูหัว ชูหางขึ้น กล่าวคือ ส่วนหัวและส่วนท้ายจะสูงกว่าลำเรือ ช่วยให้สามารถผ่าคลื่นลมทะเลได้เป็นอย่างดี
ซึ่งในอดีต “เรือกอและ” กลายเป็นพาหนะของคนโบราณที่ใช้สัญจรไปมาหาสู่กันในแถบหมู่บ้าน ลำคลอง แถวปากอ่าว รวมทั้ง ใช้เพื่อประกอบในการทำประมงพื้นบ้านบริเวณชายฝั่งอ่าวไทยของพี่น้องมุสลิม โดยเฉพาะแหล่งเรือกอและ “ย่านบางตาวา” อ.หนองจิกพื้นที่ติดกับทะเล
ชาวประมงส่วนจะใช้เรือกอและ หาปลา หาปู จับสัตว์น้ำกันกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ หลังจากใช้เรือกันมานาน จนเกิดชำรุด เจอแดด เจอฝน น้ำเค็มกัดเซาะ ส่งผลให้ลวดลาย สีสันบริเวณลำเรือจืดจางไปบ้างตามสภาพและกาลเวลา จะมีช่างฝีมือมารับจ้าง ช่วยซ่อมแซม เขียนลวดลายใหม่ ถ้าสังเกตดูความละเอียด ลวดลายจะมีการผสมผสานระหว่างลายไทยและลายชวา ซึ่งดูกลมกลืนกันอย่างลงตัว นับวันช่างศิลป์ งานฝีมือแบบนี้ เริ่มหายไปจากท้องถิ่น
ยิ่งช่างฝีมือดีๆที่มีจินตนาการ เรื่องการลงสี เขียนลวดลาย ที่ดูดีมีชีวิตชีวาเป็นสัดส่วน เริ่มหายาก ส่วนลวดลายที่นิยมเขียนกันมาก ลายกนก ลายบัวคว่ำ บัวหาย ลายหัวพญานาค และลายหัวนก ยิ่งยุคโบราณ ยังมีความเชื่อที่สืบทอดกันมา การวาดลายบุหรงซีงอ คือ ตัวเป็นสิงห์ หัวเป็นนกคาบปลา ไว้ที่หัวเรือ เชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์มากและดำน้ำเก่ง จึงเป็นที่นิยมของชาวประมง
ความโดดเด่น ความสวยงาม เรือกอและ นับวันกลายเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ตกทอดมาสู่ชนรุ่นหลัง จนกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของสังคม ยิ่งได้นำไปโชว์ระดับนานาชาติได้เห็น ย่อมสร้างความประทับใจไม่น้อย กับงานศิลป์แผ่นดินคนด้ามขวาน ที่ร่วมกันอนุรักษ์ของดีในท้องถิ่นสู่คนรุ่นใหม่ให้อยู่คู่ลำน้ำไปอีกนานแสนนาน