แนะชาวนาใต้ "ล้อมข้าว"สต๊อกข้าวเปลือกรอจังหวะราคาขยับก่อนเทขายทำกำไร


“ชาวนาสาขาทำนาดีเด่น ปี 68” ยกเครื่องชาวนาไทยสร้าง “ลอมข้าว” แก้มลิงสต๊อกข้าวรอวันราคาดีขาย ชี้ปัจจัย “ลอมข้าว” ใกล้สูญพันธุ์ เหตุชาวนาต้องใช้สินเชื่อ เกี่ยวเสร็จขายข้าวทันที ต้องสนับสนุนสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย ดอกเบี้ย 00.50 บาท / ปี
นายประจวบ เกตุนิ่ม เกษตรกรดีเด่นสาขาทำนาปี 2568 และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าว ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ชาวนาที่เคยสร้างลอมข้าวเพื่อเก็บสต๊อกข้าว เพื่อไว้บริโภค และขายที่มีในอดีตปัจจุบันนั้นแทบจะไม่เหลือ
“หากมีการสร้างลอมข้าวเพื่อเก็บสต๊อกข้าวเอาไว้จะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ข้าวเมื่อเกิดภาวะล้นตลาด ซึ่งข้าวจะเกิดราคาผันผวน”
ข้าวเปลือกจะสามารถจะเก็บได้นานเป็นระยะเวลาปี ๆ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่ได้ราคาดีก็จะสามารถออกขาย และเมื่อราคาชะลอตัวหรือถูกตลาดโลกกดดัน ก็สามารถเก็บเข้าสต๊อกเอาไว้ และสำหรับในกลุ่มปัจจุบันมีลอมข้าวเก็บสต๊อกข้าวไว้เช่นกัน
โดยจะเก็บสต๊อกไว้ประมาณ 40 % โดยขายออกไปประมาณ 60 % สำหรับที่เก็บสต๊อกไว้จะนำไปเข้าโรงสีข้าวแปรรูปเป็นข้าวบรรจุถุงขายปลีกหรือขายส่ง และบริโภเอง และอีกส่วนหนึ่งเก็บสต๊อกไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ จะขายทั้งข้าวสารและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะได้ราคาที่ดี โดยในกลุ่มทำนาข้าวพื้นเมืองทั้งสังข์หยด และข้าวเฉี้ยงเป็นหลัก
นายประจวบ กล่าวอีกว่า เกี่ยวกับนโยบายภาษีศุลกากรของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ไม่ได้ประสบกับปัญหาข้าว เพราะข้าวในพื้นที่ไม่ได้มีการส่งออกต่างประเทศทำนาเพื่อบริโภคภายใน และหากส่งออกเมื่อมีลอมข้าวก็สามารถจะเก็บสต๊อกเอาไว้ได้ และพร้อมออกขายเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น
“เมื่อราคาจะถูกกดันด้วยกลไกใด ๆ ก็ตาม ชาวนาเมื่อมีลอมข้าวเก็บสต๊อกก็สามารถเก็บข้าวเอาไว้ได้ และข้าวเป็นปัจจัยหลักราคาก็จะมีการเคลื่อนไหว เรื่องลอมข้าวเพื่อเก็บสต๊อกข้าวจะนำเสนอต่อสภาเกษตรกรเพื่อให้ทำการผลักดันต่อไป”
นายประจวบ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นที่ลอมข้าวต้องหายไปแทบทั้งหมดชาวนา มีปัจจัยสำคัญที่มีความจำเป็นที่ไม่อาจจะสามารถเหลี่ยงเลี่ยงได้ สำหรับกลุ่มที่ขาดกำลังซื้อ เพราะการทำนาแต่ละฤดู จะต้องใช้สินเชื่อแทบจะครบวงจร ค่าปุ๋ย ไถ หว่านดำ เก็บเกี่ยว เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วก็จะต้องออกขายเพื่อชำระสินเชื่อทันที เพราะหาไม่แล้วดอกเบี้ยจะปรับตัวสูงขึ้นพร้อมจะต้องเสียค่าปรับ ยกเว้นชาวนาที่มีกำลังซื้อที่จะต้องไม่ต้องใช้สินเชื่อ จึงสามารถเก็บสต๊อกข้าวได้ ซึ่งมีเหมือนกันแต่น้อยมาก
แนวทางที่จะสร้างลอมข้าวชาวนา จะต้องมีเงินทุนใช้ในการทำนาทั้งค่าปุ๋ย ไถ หว่านดำ เก็บเกี่ยว ซึ่งสำหรับในกลุ่มแปลงใหญ่ทำนา ต.เชาชัยสน ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสามารถดำเนินการได้ และแนวทางที่จะสนับสนุนให้ชาวนาการสร้างลอมข้าวจะต้องให้ชาวนาสร้างกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ โดยทางการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 00.50 บาท / ปี และชาวนาจะมีทิศทางที่ดี
และสำหรับชาวนา จ.พัทลุง นายประจวบ กล่าวว่า ชาวนามีทิศทางที่ดีได้ขอให้ราคาข้าวอยู่ในระดับ 6,000 บาท / ตัน หรือขั้นต่ำสุด 5,500 บาท / ตัน เพราะต้นทุนการผลิตทำนา จ.พัทลุง อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท / ไร่ และชาวนาก็สามารถทำนาได้ 2 ฤดูทั้งนาปรังและนาปี
“และก่อนนั้นเคยนำเสนอต่อทางการให้ชาวนามีเมล็ดพันธุ์ที่ดีคือจะต้องมีเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตประมาณกว่า 1 ตัน / ไร่ แต่ปัจจุบันเฉพาะชาวนาปรังมีผลผลิตประมาณ 700 – 800 กก. / ไร่ และหากชาวนาสามารถผลิตได้กว่า 1 ตัน / ไร่ หากราคาข้าวต่ำชาวนายังสามารถอยู่ได้” นายประจวบ กล่าว
นายสุภาพ มุสิกะศิริ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ชาวนาที่จะมีอนาคตและอยู่ได้จะต้องมีต้นทุนที่ไม่สูง มีอุปกรณ์ทำนาสนับสนุน เช่น เครื่องจักร มีลอมข้าวเก็บสต๊อกข้าว สต๊อกข้าวจะเป็นกลไกสำคัญเมื่อเวลาราคาข้าวตกต่ำจะสามารถเก็บสต๊อกไว้และคอยออกขายเมื่อได้ราคาที่เหมาะสม ทั้งนี้ทางสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงได้เตรียมเสนอต่อการทำประชาพิจารณ์ชาวนาเกี่ยวกับยกร่างพระราชบัญญัติชาวนา โดยเฉพาะประเด็นเครื่องจักรทำนาชาวนาจะมีต้นทุนที่สูง
“แนวโน้มการทำนาที่ให้มีอนาคตจะต้องได้ราคาประมาณ 10,000 บาท / ตัน เพราะหากมีราคาที่ไม่จูงใจพื้นที่ทำนาก็จะทยอยลดลงแล้วหันไปเป็นพื้นที่ปาล์มน้ำมัน” นายสุภาพ กล่าว.
นายสุภาพ กล่าวอีกว่า และปัจจุบันบางพื้นที่ชาวนาที่มีศักยภาพบางรายที่มีศักยภาพสามารถทำนาได้ถึง 3 ฤดูกาล เป็นข้าวระยะสั้นประมาณ 4 เดือน และขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีข้ามาสนับสนุน เช่น โดรนในการหว่านข้าว ใส่ปุ๋ย ฯลฯ และที่ผ่านมาทางสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุงได้ยื่นหนังสือถึงจังหวัดพัทลุง โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำเสนอถึงนายกรัฐมนตรี โดยให้มีนโยบายประกันราคา 15 บาท / กก.