อาจารย์ ดร. สรัญญา สุจริตพงศ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ได้นำเสนอผลการวิจัยในงานประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2568” ครั้งที่ 19 ภายใต้แนวคิด “Real-World Impacts” จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนที่จัดซื้อจัดจ้างอาหารซึ่งใช้วัตถุดิบจากการผลิตแบบปลอดภัยหรือแบบอินทรีย์จากเกษตรกรในท้องถิ่นส่งผลกระทบให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างที่เห็นคุณค่าในทุกมิติของความยั่งยืน
ในปีแต่ละปีรัฐจัดสรรงบประมาณกว่าสองหมื่นล้านบาทสำหรับอาหารกลางวันให้เด็กประถมที่เรียนในโรงเรียนสังกัดรัฐ โดยมีเจตนารมณ์สนับสนุนโภชนาการที่ดี อย่างไรก็ตามการจัดอาหารโรงเรียนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารมากนัก เห็นได้จากการตรวจพบการปนเปื้อนสารฆ่าแมลงตกค้างในผักที่นำมาทำอาหารโรงเรียนในสัดส่วนสูง นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบอาหารของโรงเรียนยังขาดการบูรณาการคุณค่าด้านอื่นที่สามารถสร้างประโยชน์กับชุมชนท้องถิ่นได้ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์วิธีการปฏิบัติของโรงเรียนกรณีศึกษา จำนวน 8 แห่ง กระจายใน 5 ภูมิภาค ทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นโรงเรียนที่เลือกซื้อวัตถุดิบอาหารจากชุมชนหรือวัตถุดิบอินทรีย์

อาจารย์ ดร. สรัญญา สุจริตพงศ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล
สำหรับปรุงประกอบอาหาร รวมทั้งนำกฎเกณฑ์ ระเบียบ และแนวทางการดำเนินการการจัดซื้อจัดจ้างอาหารที่โรงเรียนส่วนใหญ่ปฏิบัติ มาวิเคราะห์ร่วมเพื่อสะท้อนสถานการณ์และข้อจำกัดของการจัดซื้อจัดจ้างอาหารภาครัฐ ผลการวิจัยพบว่าตามกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติทั่วไปมีการให้ความสำคัญกับความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง และคุณค่าทางโภชนาการอาหารของเด็กนักเรียนมากที่สุด ส่วนวิธีการปฏิบัติของในโรงเรียนกรณีศึกษาใช้คุณค่าในทุกด้านของระบบอาหารยั่งยืนในการจัดซื้อจัดจ้างอาหาร สามารถลดความยาวห่วงโซ่อุปทานอาหาร สนับสนุนเกษตรชุมชน เกิดความเท่าเทียม สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี และพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงานตลอดห่วงโซ่อาหาร
ดังนั้นหากต้องการขยายผลให้มีจำนวนโรงเรียนที่ใช้วัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยหรือวัตถุดิบอินทรีย์ที่ผลิตจากเกษตรกรในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างคุณค่าอย่างรอบด้านผ่านการจัดซื้อจัดจ้างอาหารโรงเรียน สิ่งที่สามารถทำได้ทันทีสำหรับโรงเรียนที่ใช้วิธีการจ้างเหมาผู้ประกอบการปรุงอาหารสำเร็จ คือ การออกข้อกำหนดและขอบเขตการจ้างที่มีรายละเอียดหลักการการให้คุณค่ากับการใช้วัตถุดิบอาหารที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมที่ดี สนับสนุนการซื้อวัตถุดิบอาหารจากเกษตรกรท้องถิ่น และแนวทางปฏิบัติยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้ปฏิบัติงานตลอดห่วงโซ่อาหาร

นอกจากนี้ภาครัฐส่วนกลางหรือส่วนท้องถิ่นควรริเริ่มให้มีเครื่องมือทางนโยบายที่ให้แรงจูงใจด้านเศรษฐศาสตร์ (economic incentive) กับโรงเรียนที่ใช้คุณค่าด้านอื่นนอกจากราคาในการจัดซื้อจัดจ้างอาหาร เช่น การเพิ่มเงินสมทบรายหัวค่าอาหารกลางวันให้กับโรงเรียนที่จัดซื้อ หรือกำหนดสัดส่วนจำนวนหนึ่งให้ผู้ประกอบการต้องจัดซื้อวัตถุดิบอาหารจากระบบอาหารชุมชน หรือวัตถุดิบอาหารปลอดภัย นอกจากนี้ภาครัฐควรออกระเบียบหรือประกาศที่เฉพาะเจาะจงกับการจัดซื้อจัดจ้างอาหารภาครัฐที่พิจารณาหลักการให้คุณค่าด้านอื่นของความยั่งยืน
การจัดอาหารโรงเรียนให้เด็กสามารถส่งผลกระทบในวงกว้างมากไปกว่าการจัดอาหารที่มีโภชนาการที่ดีให้เด็ก และการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้งบประมาณที่มีความโปร่งใสและปราศจากทุจริตคอรับชัน แต่ยังสามารถให้คุณค่าได้ในทุกมิติของความยั่งยืน เพื่อนำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็ง. สร้างสังคมสุขภาวะ และส่งเสริมให้เกิดระบบอาหารของประเทศที่ยั่งยืนมากขึ้น