ชาวอำเภอพนาร่วมถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนเนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา


อำนาจเจริญ-รองพ่อเมืองอำนาจเจริญนำพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอพนาร่วมถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนเนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 เวลา 14.00 น. ณ วัดพระเหลาเทพนิมิต ต.พนา อ.พนา จ.อำนาจเจริญ นายเสนีย์ ส้มเขียวหวาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ พร้อมด้วย นายฤทธิไกร สายสุด นายอำเภอพนา นำส่วนราชการ และพุทธศาสนิกชน ชาวอำเภอพนา ร่วมถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนเนื่องในเทศกาลวันเข้าพรรษา เพื่อสืบสานต่อยอดพระพุทธศาสนาและรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน
การนำเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนไปถวายพระสงฆ์ในช่วงเข้าพรรษาเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของพุทธศาสนิกชน โดยทั่วไปจะทำควบคู่กันไปเพื่อเป็นพุทธบูชาและเพื่อประโยชน์แก่พระสงฆ์ ผู้ที่ถวายจะได้รับอานิสงส์ผลบุญต่างๆ เทียนพรรษาเป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่างและความเจริญรุ่งเรือง การถวายเทียนพรรษาเพื่อบูชาพระรัตนตรัย และเพื่อให้พระสงฆ์ใช้จุดให้ความสว่างในระหว่างเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าที่พระสงฆ์ใช้สำหรับผลัดเวลาอาบน้ำ
การถวายผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงเวลาที่จำพรรษา การถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน มักทำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 สำหรับอานิสงส์การถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน เชื่อว่าจะทำให้ผู้ถวายได้รับอานิสงส์หลายประการ เช่น เกิดปัญญา มีความรุ่งเรือง มีแต่ความสุข มีทรัพย์สินเงินทอง และมีบริวารมากมาย
วันเข้าพรรษา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง พระสงฆ์จะไม่จำพรรษาไม่ได้
เนื่องจากรูปใดไม่จำพรรษาถือว่าต้องอาบัติทุกกฎตามพระวินัย การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจาก วันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน)ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติในวันเข้าพรรษามาอย่างยาวนาน
ภาพข่าว ทิพกร หวานอ่อน /จังหวัดอำนาจเจริญ รายงาน