ส่อง “ไร่เพชรปิ่นทอง”ต้นแบบเกษตรปลูกสละหวานพันธุ์สุมาลี รายได้ปัง


เกษตรกรต้นแบบที่ประสบความสำเร็จของ “ไร่เพชรปิ่นทอง” บ้านเลขที่ 72/9 หมู่ 6 ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่สองสามีภรรยา นายมนิต และนางพัชรี ภิรมย์ศักดิ์ พนักงานบริษัทที่ออมเงินซื้อที่ดิน 22 ไร่ ทดลองปลูกสละหวานพันธุ์สุมาลี จนวันนี้ผลผลิตออกดีเกินคาด เตรียมขยายเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกสละ หวังให้เกษตรกรหันมาปลูกแทนพืชล้มลุก-อ้อย
นายมนิต เล่าว่า เมื่อ 7 ปีก่อนตัดสินใจปลูกสละพันธุ์สุมาลีที่สั่งต้นพันธุ์มาจาก จ.จันทบุรี แม้พื้นที่จะอยู่นอกเขตชลประทาน แต่มีระบบบาดาลดูแลจัดการน้ำอย่างดี ยกร่องปลูกสละกว่า 300 กอ ผสมผสานพืชผลอื่น เช่น กล้วย ชมพู่ ขนุน พริก กาแฟ ช่วยให้สวนมีความหลากหลายและร่มเงา สละสุมาลีสวนนี้ รสหวานสนิท เนื้อแน่น รูปทรงป้อมสั้น หนามสั้นกระจายทั่วเปลือก เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลอมเหลือง รสชาติหวานไม่มีเปรี้ยวเจือปน เป็นที่ต้องการของตลาดกว่าพันธุ์อื่น
ปัจจุบัน ไร่เพชรปิ่นทองจัดจำหน่ายผลสดแบบแกะเปลือกใส่กล่อง ส่งตามคาเฟ่และร้านผลไม้เพื่อความสะดวก ราคาขายหน้าสวนกก.ละ 70 บาท ส่งออกกิโลละ 50 บาท ขายปลีกแบบแกะแล้ว กล่องละ 100-120 บาท เก็บเกี่ยวได้ 6-7 เดือนต่อปี ส่วนช่วงมี.ค.-เม.ย. ผลผลิตจะน้อยเพราะอากาศร้อนจัดทำให้ผสมเกสรยาก
นายมนิต เล่าต่อว่า “สละเป็นพืชที่ดูแลง่าย เหมาะกับคนเกษียณหรือคนที่อยากเตรียมตัวเป็นเจ้าของสวน ไม่ต้องปีนต้นให้เสี่ยงอันตราย ปลูกได้ทุกที่ขอแค่มีน้ำเพียงพอ”
การปลูกสละ ใช้ระยะห่าง 10x10 เมตร เพื่อจัดการสวนได้สะดวก ต้องอาศัยการผสมเกสรด้วยมือหรือแมลงช่วยผสมคล้ายอินทผลัม จุดสำคัญคือต้องดูแลเรื่องเชื้อราและความชื้น
นายเขมชาติ สถิตย์ตันติเวช นักท่องเที่ยว บอกหลังชิมว่า สละที่นี่รสหวานล่อนง่าย แกะกินง่ายกว่าที่เคยกินที่อื่น อยากให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อให้คนเข้ามาศึกษาเรียนรู้
ด้านนายกุลฑล ปูรณวัฒนกุล ประธานเครือข่ายธุรกิจบิสคลับประเทศไทย มองว่า สละสุมาลีเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้มากหากเปลี่ยนแนวคิดจากส่งตลาดเป็นเชิญนักท่องเที่ยวมาเก็บกินถึงสวน เรียนรู้การปลูก การจัดการ และขยายพันธุ์ได้ด้วย
เทคนิคการปอกสละให้ง่ายขึ้น คือ ปลิดลูกออกจากพวง บิดเปลือกเบา ๆ ก็ล่อนออกได้ง่าย ถือเป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้ผู้บริโภครับประทานได้สะดวกขึ้น
“เราอยากให้ชาวสวนราชบุรีมาศึกษาการปลูกสละกันดูบ้าง เพราะนอกจากจะสร้างรายได้ที่ดีแล้ว ยังเป็นพืชที่ดูแลง่ายกว่าที่คิด” นายมนิตกล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชม สั่งซื้อ หรือศึกษาการปลูก ติดต่อ “ไร่เพชรปิ่นทอง” ล่วงหน้าที่ โทร. 086-3472911