'กล้วยตะนาวศรี' สู่งานจักสาน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน

'กล้วยตะนาวศรี' สู่งานจักสาน เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ชุมชนอย่างยั่งยืน





Image
ad1

มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จ.ราชบุรี ผนึกกำลังกับชาวบ้าน ต่อยอด "กล้วยตะนาวศรี" พันธุ์พื้นถิ่นของ อ.บ้านคา นำกาบกล้วยมาแปรรูปเป็นงานจักสานและสิ่งทอตกแต่งบ้าน สร้างรายได้เสริมและต่อยอดสู่การอนุรักษ์พืชท้องถิ่น ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช (อพ.สท.) ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

กล้วยน้ำว้าตะนาวศรี เป็นพันธุ์พื้นถิ่นในเขตเทือกเขาตะนาวศรี มีลักษณะเด่นคือ ลำต้นสูงใหญ่ ใบหนา ทนแล้งได้ดี โดยนำส่วนกาบกล้วยที่มักถูกทิ้ง มาฉีกเป็นเส้น ตากแห้ง แล้วนำมาทอเป็นเสื่อ ที่รองจาน กระเป๋า และของใช้ภายในบ้าน โดยใช้สีธรรมชาติจากใบไผ่ตงและดอกทองกวาวในการย้อม เพิ่มความสวยงามและมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์

อาจารย์ ดร.รัชนิดา รอดอิ้ว คณะวิทยาการจัดการ ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เปิดเผยว่า โครงการนี้เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบเหลือใช้ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้และส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์พืชอย่างยั่งยืน โดยนอกจากผลกล้วยที่จำหน่ายได้อยู่แล้ว ยังต่อยอดใช้ต้นและกาบกล้วยมาแปรรูปเพื่อไม่ให้สูญเปล่า

ผลิตภัณฑ์ที่ได้ เช่น เสื่อทอกว้าง 50 ซม. ยาว 2 เมตร มีความหนา นุ่ม มีกลิ่นหอมธรรมชาติของกล้วยตากแห้ง หรือกระเป๋าที่บุด้วยผ้าฝ้ายสวยงาม โดยสินค้า 1 ชุด เช่น ชุดจานรอง 2 ใบ ที่รองแก้ว 2 อัน และที่ใส่ช้อนส้อม 1 ชุด วางจำหน่ายในราคาชุดละ 700 บาท ส่วนกระเป๋าจำหน่ายตั้งแต่ 500–1,000 บาท โดยวางจำหน่ายผ่านเฟซบุ๊ก ลาซาด้า และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่

นางธนัชญา อบมายันต์ ประธานกลุ่มโอท็อปบ้านไร่อบมายันต์ และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์จากใบสับประรด เผยว่า โครงการนี้เสริมกับหลักสูตรท้องถิ่นเดิมของโรงเรียนบ้านร่องเจริญ ที่สอนเด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.6 ให้รู้จักการทอเสื่อจากใบสับปะรด ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน

นายสุรพล อบมายันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านร่องเจริญ กล่าวว่า การสอนทักษะจักสานจากวัสดุธรรมชาติเป็นการปลูกฝังให้เด็กเยาวชนรักและภูมิใจในท้องถิ่นของตน เชื่อมโยงความรู้สู่อาชีพ สร้างรายได้ และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กของโรงเรียนบ้านร่องเจริญ