คปภ. เดินหน้ายกระดับการกำกับดูแล เสริมเกราะธุรกิจประกันภัยไทย สู่มาตรฐานสากล


สำนักงาน คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยไทยอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดงานสัมมนา “การยกระดับการกำกับดูแล และตรวจสอบธุรกิจประกันภัย” เพื่อเสริมสร้างความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการกำกับดูแล อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบ หน่วยงานตรวจสอบภายใน หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎหมาย จากทั้งบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้บริหารสำนักงาน คปภ. เข้าร่วมกว่า 400 คน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ณ CDC Ballroom กรุงเทพมหานคร
นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ได้กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารเชิงนโยบาย แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS17) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา แม้ว่ามาตรฐานดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและสะท้อนฐานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องอาศัย ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและการปรับตัวของทุกภาคส่วน
เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา “กรอบการกำกับดูแล” (Supervisory Framework) และเครื่องมือสำคัญอย่าง “ระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า” (Early Warning System : EWS) เพื่อใช้ในการคัดกรองและประเมินระดับความเสี่ยงของบริษัทอย่างเป็นระบบ พร้อมเน้นยํ้าถึงบทบาทของรายงาน ERM/ORSA ที่ต้องเป็นมากกว่ารายงานที่จัดทำเพื่อยื่นต่อสำนักงาน คปภ. แต่ต้องสะท้อนแนวคิด Risk Governance อย่างแท้จริง โดยในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้ ทุกบริษัทจัดทำ Risk Appetite อย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นกรอบการบริหารความเสี่ยง และขับเคลื่อนไปสู่การเป็นบริษัท ในกลุ่ม 1 ตามเกณฑ์ของระบบ EWS ได้ทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย
ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในรูปแบบกลุ่ม (Group Structure) สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมผลักดันแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group-Wide Supervision) ในระดับ Full Consolidation ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2569 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุน ภายใต้กรอบการควบคุมที่รัดกุม
ภายในงานยังมีการการสะท้อนผลการประเมิน SAQ RCM และ Examination Form ตลอดจนความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้ภาคธุรกิจนำข้อมูล ไปวิเคราะห์ ปรับปรุงกระบวนการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์
“การสัมมนาครั้งนี้เป็นกลไกสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย และเป็นอีกก้าวของการขับเคลื่อนระบบ การกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมยืนยันว่า สำนักงาน คปภ. จะกำกับอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่กับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบประกันภัยไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนในระยะยาว” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย